ความเร็วของแรม DDR5 มีผลต่อการเล่นเกมเยอะไหม ?

     เมื่อก้าวสู่ยุคของแรม DDR5 แล้วนั้น คำถามที่พบบ่อยก็คงไม่ได้ต่างไปจากแรม DDR4 กันสักเท่าไรนัก อย่างเช่น ความเร็ว และ CL ของแรม DDR5 เมื่อมีการเร่งความเร็วขึ้นไปเยอะๆ ในระดับ DDR5-7000+ และการปรับแต่ง CL ให้แน่นขึ้นบน DDR5 นั้นช่วยส่งผลให้ประสิทธิภาพของ System โดยรวมและการเล่นเกมนั้นดีขึ้นหรือไม่? เพราะหลายท่านยังคาใจกับค่า CL หรือค่าการเข้าถึงของมูลของ DDR5 นั้นสูงกว่าของ DDR4 ค่อนข้างเยอะ… อย่างน้อยๆ ก็ค้องมี CL28 หรือ CL30 สำหรับหรับ DDR5 ในจุดเริ่มต้น ซึ่งต่างจาก DDR4 ที่พบเห็นกันได้ที่ค่า CL14 หรือ CL16 ที่ความเร็ว DDR4-3200+  ซึ่งหากมองเทียบกันตรงนี้ค่าหน่วงเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของ DDR4 ดีกว่า DDR5 เกือบเท่าตัวเลยนะเออ…. แล้วแบบนี้ DDR5 ที่มี CL สูงมาก แต่มีจุดเด่นเรื่องของการเพิ่มความถี่ได้ค่อนข้างเยอะ มันจะแรงพอที่จะชดเชยกับ CL สูงๆ ได้ไหม?

     เอาล่ะครับ วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึง DDR4 VS DDR5 แต่เราจะมาดูถึงประสิทธิภาพของแรม DDR5 ที่มีการปรับแต่งความเร็วขึ้นไปสูงๆ ในระดับ DDR5-7200 CL32-42-42-28 2T พร้อมกับการปรับแต่งค่า Timing ชั้นลึก หรือที่เรียกว่า Sub Timing ให้แน่นเปรี๊ยะ! ตึงเวอร์ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดของแรมในระดับความเร็ว DDR5-7200 ออกมาได้มากที่สุด  ดังนั้นวันนี้เราจะมาชมประสิทธิภาพของ… ของแรม DDR5-5200 CL38-38-38-76 รันจากค่า XMP Profile เทียบกับ DDR5-7200 CL32-42-42-28 ดูกันว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นมากกว่า DDR5-2000 (1000Mhz) นั้นจะส่งผลต่อการเล่นเกมและใช้งานทั่วไปมากน้อยแค่ไหนนั้น ไปรับชมบทความนี้กันเลยครับ

 

     DDR5 ต่างจาก DDR4 แบบชัดเจน อย่างน้อยๆ ก็เรื่องของสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบแรมได้กล่าวไว้ว่าเป็นแบบใหม่ โดยได้พัฒนามาจาก DDR4 โดย DDR5 นั้นจะเน้นไปที่เรื่องของการเพิ่มความเร็วให้ได้มากกว่า DDR4 แบบเท่าตัว, มีความจุมากขึ้นเท่าตัว และใช้พลังงานที่ต่ำลง ซึ่งเราจะได้ว่า DDR5 ใช้ไฟเลี้ยง VDD ต่ำเพียง 1.15V ก็สามารถทำงานได้ที่ระดับ DDR5-5200 CL38 ได้อย่างมีเสถียรภาพแบบชิวๆ กันเลยทีเดียว หรือที่ความเร็วระดับ DDR5-5600 CL36 ก็ยังคงใช้ไฟเลี้ยงต่ำเพียง 1.25V เท่านั้นเอง…  และจุดเด่นของ DDR5 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ แรม DDR5 1 แถวจะทำงานในแบบ Dual Channel ต่อแถว (2 Channel per DIMM) โดยแบ่งกันทำงานของแรมเป็นแบบ Channel A 32bit + Channel B 32bit รวมกันถึงแถวยังคงเป็น 64Bit เท่ากับ DDR4 นะครับ ส่วนถ้าการต่อใช้งานของ DDR5 แบบ 2 แถว มันจะกลายเป็นแบบ Quad Channel 32bit x4 ด้วยแรมเพียง 2 แถวเท่านั้น  และนี่ก็คือความต่างของ DDR4 และ DDR5 แบบชัดเจน

 

     ใครที่ยังนึกภาพตามไม่ออก ก็ลองดูภาพด้านบนนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ดีว่า DDR4 และ DDR5 นั้นมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างไร… โดยที่ DDR5 นั้นมีช่องทางให้ CPU เข้าไปหาข้อมูลในแรมได้ถึง 4 ช่องทาง Quad CH ในรูปแบบการต่อแรมเพียง 2 แถวเท่านั้น… ถึงแม้จะมี CL ที่สูงกว่า DDR4 แต่ด้วยการแบ่งช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลในตัวแรมให้กับ CPU เยอะขึ้นแบบนี้ อย่างไรแล้ว DDR5 ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเยอะๆ ได้ไวกว่า DDR4 พอสมควรเลยครับ อย่างเช่น เมื่อเทียบกับการทดสอบบางอย่างนั้น DDR5 ที่มีความจุเยอะกว่า เช่น 2x16GB รวม 32GB-Kit นั้น DDR5 สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือทดสอบโปรแกรมอย่างพวก Memtest / Testmem5 ได้ไวพอๆ กับ แรม DDR4 ขนาดความจุ 2x8GB 16GB-Kit และเมื่อ DDR4 ขนาดความจุ 32GB นั้นบอกเลยว่าการทดสอบดังกล่าว อาจจะใช้เวลามากกว่า DDR5 ถึงเท่าตัว…. สรุปคือ DDR5 ถึงแม้จะมี CL ที่สูงกว่า DDR4 ค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยการออกแบบของสถาปัตยกรรมในการเข้าถึงข้อมูลของ CPU และ RAM ใหม่เป็น Quad Channel 2xDIMM จึงไม่ใช่ปัญหาของ DDR5 ที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ไวมากๆ แม้แรมจะมีความจุเยอะๆ มากก็ตาม…

 

     และอีกคำถามที่พบบ่อยหลังจากที่ DDR5 เกิดขึ้นมาบนโลกได้สักพักใหญ่ๆ ก็คือ?  พี่ครับๆ DDR5 มีความเร็วสูงสุดเท่าไร?  พี่ครับๆ DDR5 Overclock เพิ่มความเร็วไปได้อีกเท่าไรครับ?   คำตอบก็คือ… ถ้าย้อนไปถึงการออกแบบของ DDR5 แล้ว Time Line ของมันตั้งแต่ที่ประกาศออกมา สามารถทำงานได้ถึง DDR5-8400 และไปจนถึง DDR5-12600+ กันเลยนะครับ… คือแบบใช้งานจริงได้เลยไม่ใช้การเค้น OC ให้ได้ตัวเลขมา… ย้ำอีกครั้งว่าในอนาคต ถ้าทุกอย่างพร้อมจริงทั้ง CPU และ MOBO เราจะได้เห็นแรม DDR5-8000+ เป็นเรื่องปกติ

     ส่วนโลกของความเป็นจริง ณ เวลานี้ที่เราพบเห็นทั่วไป หรือเลือกซื้อกันตามท้องตลาดได้เลยก็คือ DDR5-4800, 5200 และ 5600 ซึ่งจะเป็นกลุ่มความเร็วเริ่มต้น ราคาไม่แรงจนเกินไป  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเรียกว่า High Speed Module หรือกลุ่มของแรมที่ Overclock เพิ่มความเร็วให้เร็วขึ้นพิเศษ ก็จะพบเห็นได้ตั้งแต่ความเร็ว DDR5-6000 ไปจนถึง DDR5-6600+ ซึ่งก็มีค่ายแรมบางค่าย เริ่มคัดแรมออกมาขายกันบ้างแล้ว โดยจะเน้นไปที่ขนาดความจุ 2x16GB 32GB-Kit ก่อน  ส่วนคู่ละ 2x32GB 64GB-Kit นั้นช่วงเริ่มต้นมานี้ก็มีเพียงแค่ความเร็ว DDR5-4800/5200/5600 เท่านั้นครับ ยังเร่งความเร็วเกินนี้มากยังไม่ไหว ดังนั้นสาย OC ยุคแรกเริ่มในช่วงนี้คงต้องหาแรม DDR5 คู่ละ 2x16GB 32GB-Kit ใช้งานไปก่อนครับ เพราะถ้าความจุเยอะเกินกว่านี้ ดูเหมือนจะเพิ่มความเร็วได้ค่อนข้างยาก!!!  และยังรวมถึงการ OC แรม DDR5 แบบ 4 แถวก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างลำบากด้วยเช่นกัน…

     และกลุ่มแรม DDR5 กลุ่มสุดท้ายในความเร็วที่เห็นกันระดับ DDR5-6800 ไปจนถึง DDR5-7000+ นั้นจะเป็นรุ่นที่คัดมาพิเศษ และทำออกมาเฉพาะทางเพื่อทำงานร่วมกับเมนบอร์ดบางรุ่นเท่านั้น… เพราะการที่เราจะใช้งานแรม DDR5 ในระดับความเร็ว 6800-7000+ ได้แบบง่ายๆ ในยุคนี้ยังทำได้ค่อนข้างยาก และตัวเมนบอร์ดเองก็ต้องเลือกรุ่นที่รองรับการ Overclock แรม DDR5 เป็นพิเศษด้วยเท่านั้น !!! (แถมยังมีเรื่อง IMC ตัวขับแรมในตัว CPU อีกที่มีความสามารถต่างกัน บางตัวดันแรมเกิน 7000+ ง่าย, CPU บางตัวทำไม่ได้ เหตุนี้จึงทำให้แรม DDR5 ในยุคแรกๆ มีความเร็วใช้งานที่ไปไกลกว่า DDR5-6400+ ได้ไม่เยอะมาก) กล่าวคือเมนบอร์ด DDR5 ทั่วไป… ยังไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับแรม DDR5 ความเร็วเกิน 6xxx+ ได้ง่ายนัก… (แต่ในอนาคตคงจะมีการรองรับความเร็วที่สูงขึ้นล่ะครับ อดใจรอกันหน่อย ไม่ก็ต้องรออีกหนึ่ง Gen.)