ความเร็วของแรม DDR5 มีผลต่อการเล่นเกมเยอะไหม ?

     เมื่อก้าวสู่ยุคของแรม DDR5 แล้วนั้น คำถามที่พบบ่อยก็คงไม่ได้ต่างไปจากแรม DDR4 กันสักเท่าไรนัก อย่างเช่น ความเร็ว และ CL ของแรม DDR5 เมื่อมีการเร่งความเร็วขึ้นไปเยอะๆ ในระดับ DDR5-7000+ และการปรับแต่ง CL ให้แน่นขึ้นบน DDR5 นั้นช่วยส่งผลให้ประสิทธิภาพของ System โดยรวมและการเล่นเกมนั้นดีขึ้นหรือไม่? เพราะหลายท่านยังคาใจกับค่า CL หรือค่าการเข้าถึงของมูลของ DDR5 นั้นสูงกว่าของ DDR4 ค่อนข้างเยอะ… อย่างน้อยๆ ก็ค้องมี CL28 หรือ CL30 สำหรับหรับ DDR5 ในจุดเริ่มต้น ซึ่งต่างจาก DDR4 ที่พบเห็นกันได้ที่ค่า CL14 หรือ CL16 ที่ความเร็ว DDR4-3200+  ซึ่งหากมองเทียบกันตรงนี้ค่าหน่วงเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของ DDR4 ดีกว่า DDR5 เกือบเท่าตัวเลยนะเออ…. แล้วแบบนี้ DDR5 ที่มี CL สูงมาก แต่มีจุดเด่นเรื่องของการเพิ่มความถี่ได้ค่อนข้างเยอะ มันจะแรงพอที่จะชดเชยกับ CL สูงๆ ได้ไหม?

     เอาล่ะครับ วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึง DDR4 VS DDR5 แต่เราจะมาดูถึงประสิทธิภาพของแรม DDR5 ที่มีการปรับแต่งความเร็วขึ้นไปสูงๆ ในระดับ DDR5-7200 CL32-42-42-28 2T พร้อมกับการปรับแต่งค่า Timing ชั้นลึก หรือที่เรียกว่า Sub Timing ให้แน่นเปรี๊ยะ! ตึงเวอร์ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดของแรมในระดับความเร็ว DDR5-7200 ออกมาได้มากที่สุด  ดังนั้นวันนี้เราจะมาชมประสิทธิภาพของ… ของแรม DDR5-5200 CL38-38-38-76 รันจากค่า XMP Profile เทียบกับ DDR5-7200 CL32-42-42-28 ดูกันว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นมากกว่า DDR5-2000 (1000Mhz) นั้นจะส่งผลต่อการเล่นเกมและใช้งานทั่วไปมากน้อยแค่ไหนนั้น ไปรับชมบทความนี้กันเลยครับ

 

     DDR5 ต่างจาก DDR4 แบบชัดเจน อย่างน้อยๆ ก็เรื่องของสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบแรมได้กล่าวไว้ว่าเป็นแบบใหม่ โดยได้พัฒนามาจาก DDR4 โดย DDR5 นั้นจะเน้นไปที่เรื่องของการเพิ่มความเร็วให้ได้มากกว่า DDR4 แบบเท่าตัว, มีความจุมากขึ้นเท่าตัว และใช้พลังงานที่ต่ำลง ซึ่งเราจะได้ว่า DDR5 ใช้ไฟเลี้ยง VDD ต่ำเพียง 1.15V ก็สามารถทำงานได้ที่ระดับ DDR5-5200 CL38 ได้อย่างมีเสถียรภาพแบบชิวๆ กันเลยทีเดียว หรือที่ความเร็วระดับ DDR5-5600 CL36 ก็ยังคงใช้ไฟเลี้ยงต่ำเพียง 1.25V เท่านั้นเอง…  และจุดเด่นของ DDR5 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ แรม DDR5 1 แถวจะทำงานในแบบ Dual Channel ต่อแถว (2 Channel per DIMM) โดยแบ่งกันทำงานของแรมเป็นแบบ Channel A 32bit + Channel B 32bit รวมกันถึงแถวยังคงเป็น 64Bit เท่ากับ DDR4 นะครับ ส่วนถ้าการต่อใช้งานของ DDR5 แบบ 2 แถว มันจะกลายเป็นแบบ Quad Channel 32bit x4 ด้วยแรมเพียง 2 แถวเท่านั้น  และนี่ก็คือความต่างของ DDR4 และ DDR5 แบบชัดเจน

 

     ใครที่ยังนึกภาพตามไม่ออก ก็ลองดูภาพด้านบนนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ดีว่า DDR4 และ DDR5 นั้นมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างไร… โดยที่ DDR5 นั้นมีช่องทางให้ CPU เข้าไปหาข้อมูลในแรมได้ถึง 4 ช่องทาง Quad CH ในรูปแบบการต่อแรมเพียง 2 แถวเท่านั้น… ถึงแม้จะมี CL ที่สูงกว่า DDR4 แต่ด้วยการแบ่งช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลในตัวแรมให้กับ CPU เยอะขึ้นแบบนี้ อย่างไรแล้ว DDR5 ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเยอะๆ ได้ไวกว่า DDR4 พอสมควรเลยครับ อย่างเช่น เมื่อเทียบกับการทดสอบบางอย่างนั้น DDR5 ที่มีความจุเยอะกว่า เช่น 2x16GB รวม 32GB-Kit นั้น DDR5 สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือทดสอบโปรแกรมอย่างพวก Memtest / Testmem5 ได้ไวพอๆ กับ แรม DDR4 ขนาดความจุ 2x8GB 16GB-Kit และเมื่อ DDR4 ขนาดความจุ 32GB นั้นบอกเลยว่าการทดสอบดังกล่าว อาจจะใช้เวลามากกว่า DDR5 ถึงเท่าตัว…. สรุปคือ DDR5 ถึงแม้จะมี CL ที่สูงกว่า DDR4 ค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยการออกแบบของสถาปัตยกรรมในการเข้าถึงข้อมูลของ CPU และ RAM ใหม่เป็น Quad Channel 2xDIMM จึงไม่ใช่ปัญหาของ DDR5 ที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ไวมากๆ แม้แรมจะมีความจุเยอะๆ มากก็ตาม…

 

     และอีกคำถามที่พบบ่อยหลังจากที่ DDR5 เกิดขึ้นมาบนโลกได้สักพักใหญ่ๆ ก็คือ?  พี่ครับๆ DDR5 มีความเร็วสูงสุดเท่าไร?  พี่ครับๆ DDR5 Overclock เพิ่มความเร็วไปได้อีกเท่าไรครับ?   คำตอบก็คือ… ถ้าย้อนไปถึงการออกแบบของ DDR5 แล้ว Time Line ของมันตั้งแต่ที่ประกาศออกมา สามารถทำงานได้ถึง DDR5-8400 และไปจนถึง DDR5-12600+ กันเลยนะครับ… คือแบบใช้งานจริงได้เลยไม่ใช้การเค้น OC ให้ได้ตัวเลขมา… ย้ำอีกครั้งว่าในอนาคต ถ้าทุกอย่างพร้อมจริงทั้ง CPU และ MOBO เราจะได้เห็นแรม DDR5-8000+ เป็นเรื่องปกติ

     ส่วนโลกของความเป็นจริง ณ เวลานี้ที่เราพบเห็นทั่วไป หรือเลือกซื้อกันตามท้องตลาดได้เลยก็คือ DDR5-4800, 5200 และ 5600 ซึ่งจะเป็นกลุ่มความเร็วเริ่มต้น ราคาไม่แรงจนเกินไป  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเรียกว่า High Speed Module หรือกลุ่มของแรมที่ Overclock เพิ่มความเร็วให้เร็วขึ้นพิเศษ ก็จะพบเห็นได้ตั้งแต่ความเร็ว DDR5-6000 ไปจนถึง DDR5-6600+ ซึ่งก็มีค่ายแรมบางค่าย เริ่มคัดแรมออกมาขายกันบ้างแล้ว โดยจะเน้นไปที่ขนาดความจุ 2x16GB 32GB-Kit ก่อน  ส่วนคู่ละ 2x32GB 64GB-Kit นั้นช่วงเริ่มต้นมานี้ก็มีเพียงแค่ความเร็ว DDR5-4800/5200/5600 เท่านั้นครับ ยังเร่งความเร็วเกินนี้มากยังไม่ไหว ดังนั้นสาย OC ยุคแรกเริ่มในช่วงนี้คงต้องหาแรม DDR5 คู่ละ 2x16GB 32GB-Kit ใช้งานไปก่อนครับ เพราะถ้าความจุเยอะเกินกว่านี้ ดูเหมือนจะเพิ่มความเร็วได้ค่อนข้างยาก!!!  และยังรวมถึงการ OC แรม DDR5 แบบ 4 แถวก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างลำบากด้วยเช่นกัน…

     และกลุ่มแรม DDR5 กลุ่มสุดท้ายในความเร็วที่เห็นกันระดับ DDR5-6800 ไปจนถึง DDR5-7000+ นั้นจะเป็นรุ่นที่คัดมาพิเศษ และทำออกมาเฉพาะทางเพื่อทำงานร่วมกับเมนบอร์ดบางรุ่นเท่านั้น… เพราะการที่เราจะใช้งานแรม DDR5 ในระดับความเร็ว 6800-7000+ ได้แบบง่ายๆ ในยุคนี้ยังทำได้ค่อนข้างยาก และตัวเมนบอร์ดเองก็ต้องเลือกรุ่นที่รองรับการ Overclock แรม DDR5 เป็นพิเศษด้วยเท่านั้น !!! (แถมยังมีเรื่อง IMC ตัวขับแรมในตัว CPU อีกที่มีความสามารถต่างกัน บางตัวดันแรมเกิน 7000+ ง่าย, CPU บางตัวทำไม่ได้ เหตุนี้จึงทำให้แรม DDR5 ในยุคแรกๆ มีความเร็วใช้งานที่ไปไกลกว่า DDR5-6400+ ได้ไม่เยอะมาก) กล่าวคือเมนบอร์ด DDR5 ทั่วไป… ยังไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับแรม DDR5 ความเร็วเกิน 6xxx+ ได้ง่ายนัก… (แต่ในอนาคตคงจะมีการรองรับความเร็วที่สูงขึ้นล่ะครับ อดใจรอกันหน่อย ไม่ก็ต้องรออีกหนึ่ง Gen.)

Hardware Setup

     และสำหรับชุด Hardware ที่เราจะเลือกใช้ในการทดสอบเปรียบเทียบให้ชมถึงประสิทธิภาพกันในครั้งนี้ ก็ประกอบไปด้วยชุดแรม DDR5 จากค่าย Thermaltake  ในรุ่น TT TOUGHRAM RC DDR5-5200 CL38-38-38-76 2x16GB | 32GB-Kit ใช้ไฟเลี้ยงเดิมๆ จากโรงงาน 1.15V รองรับการปรับแต่งความเร็วแรมจากทาง Intel XMP 3.0 Profile ร่วมกับเมนบอร์ดที่รองรับเป็นที่เรียบร้อยครับ

 

CPU เป็นของ Intel รุ่น Core i9-12900K 8P+8E 24Threads 30MB Cache (Gen12) Socket LGA-1700

 

 

     เมนบอร์ดตัวแรงที่เกิดขึ้นมาเพื่อ Overclock CPU และ RAM โดยเฉพาะจากสำนัก ROG รุ่น MAXIMUS Z690 APEX โดยสังเกตุง่ายๆ ว่าบอร์ดรุ่นไหนรองรับการ Overclock แรมเป็นพิเศษนั้น เราจะเห็นได้ว่าบอร์ดถูกออกแบบมาให้มีช่องเสียบแรม DDR5 เหลือเพียง 2 SLOT เท่านั้นเอง… เพื่อการออกแบบให้ CPU ควบคุมแรมที่มีความถี่สูงๆ เกินระดับ DDR5-7000+ นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น…

 

     และสำหรับการเพิ่มความเร็วแรม DDR5 ขึ้นไปในระดับสูงๆ ที่ความเร็ว DDR5-7200 CL32-42-42-28 2T + การปรับแต่งชุด Timing ชั้นลึกให้แน่นตึงด้วยนั้น มันจะมาพร้อมกับความร้อนแฝงที่เลี่ยงไม่ได้เลยครับ ความถี่สูงลิ่ว + CL ที่แน่น-ตึงเปรี๊ยะ! ถ้าระบายความร้อนออกจากตัวชิปแรมไม่ทัน ก็มิอาจช่วยให้การทำงานของแรมเสถียรภาพได้ ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนชุดระบายความร้อนของแรมใหม่ เป็นแบบ Custom Heatspreader ทองแดงล้วน ที่มีน้ำวิ่งผ่านด้านในตัว Heatspreader ที่เรียกว่าชุด DC หรือ Direct Core RAM Cooling นั่นเอง… หรืออย่างน้อยๆ แรมไม่ได้ระบายความร้อนด้วยน้ำ ก็ควรเปลี่ยนเป็นชุด Custom ทองแดงแล้วเอาพัดลมพัดแรม ก็ช่วยได้ดีระดับหนึ่งครับ สรุปคือถ้าแรมเกรดไม่เทพจริง Sink เดิมเอาไม่อยู่แน่นอนครับ

 

System Test

     ประกอบ System ให้พร้อมแล้วไปลุยกันครับ โดยวันนี้เราจะได้เห็นขุมพลังของ CPU Intel Gen12 แบบเต็มๆ สูบกันไปเลย ด้วยการ Overclock CPU Intel Core i9-12900K ไปที่ความเร็วระดับ 5.60Ghz ด้วยการเปิดใช้งาน Thermal Velocity Boost+2 Profile (มีในบอร์ดของ ASUS) + All Core 5.4Ghz | E-Core 4.1Ghz | Vcore ตั้งไว้ 1.385V ส่วนความเร็วของ Cache อยู่ที่ 4.5Ghz โดยที่ผมทำการ Overclock CPU ขึ้นมาเยอะขนาดนี้ เพื่อปลดพลังแฝงของ CPU Intel Gen12 ออกมาให้ได้มากที่สุด  โดยเมื่อ CPU มีพลังการประมวลผลระดับนี้แล้ว ต่อไปนี้ถ้าเราทดสอบเกี่ยวกับแรม DDR5 ที่ความเร็วต่างๆ มาเทียบกัน… ก็จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนว่า DDR5-5200 CL38 XMP เดิมๆ เมื่อเทียบกับการ Overclock เพิ่มความเร็วขึ้นไปถึง DDR5-7200 CL32-42-42-28 2T + Tight Sub Timing ไฟเลี้ยงแรม VDD/VDDQ 1.55V/1.52V นั้นจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสักแค่ไหน?

Hardware Spec.

CPU
 Intel Core i9-12900K 8+8C/24T (SP 83)
CPU Cooler
 SuperCool DC GEN.12 + Water Cooling Custom Set
Motherboard  ROG MAXIMUS Z690 APEX
Memory
 TT TOUGHRAM RC DDR5-5200 CL38 32GB-Kit 1.15V
VGA  MSI RX 6900 XT GAMING X TRIO 16GB
Hard Drive  T-FORCE Z44L M.2 NVMe PCIe3.0 x4 SSD 1TB
PSU  TT ToughPower PF1 ARGB 1050Watt
Base Test
 “DEFAULT”
OS  Windows 11 Pro 64 bit [Last Update]

 

System OC Config + AIDA64 Cache & Memory Benchmark

รายละเอียดของชุด System ที่เราได้ทำการ Overclock Config เอาไว้ ซึ่งสามารถใช้งานจริงและเล่นเกมได้อย่างมีเสถียรภาพดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่มีข้อแม้ว่า CPU และ RAM ต้องระบายความร้อนได้ดีด้วยนะครับ ถึงจะมาเยือนความแรงระดับนี้ได้….

 

Benchmark

เอาล่ะครับ พร้อมแล้วก็ไปชมขุมพลังของ DDR5-5200 CL38 ปะทะกับ DDR5-7200 CL32 ดูกันว่าประสิทธิภาพโดยรวมแล้วออกมาเป็นอย่างไรบ้าง?  เล่นเกมดีขึ้นไหม? หลายคนถามเสมอว่า OC / Config แต่ Timing ของแรม แล้วเกี่ยวอะไรกับเล่นเกมแรง? เดี๋ยวลองไปดูกันครับว่า OC แรมให้สุดจริงๆ มันช่วยอะไรได้บ้าง…???

 

Geekbench 3.4.4

ผลการทดสอบแรกกับ Geekbench 3 นั้นก็พอจะทำให้เห็นประสิทธิภาพของ Score ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนระดับหนึ่งเลยนะครับกับ Benchmark ตัวนี้ ซึ่งถ้าแรมไม่แรงจริง คะแนนแทบจะไม่กระดิกเลย หากว่าเรา OC CPU จนสุดไปแล้ว….   ถ้าใครชำนาญเรื่องการ Overclock แรม คุณจะได้ประสิทธิภาพจากแรมขึ้นมาอีกระดับหนึ่งอย่างแน่นอน…

 

AIDA64 Cache & Memory Benchmark

: Memory Bandwidth

เรื่องของ Memory Bandwidth คงไม่ต้องสืบอะไรมากนะครับ จากค่า Read 82K ทะยานสู่ระดับ 114K MB/s !!!

 

AIDA64 Cache & Memory Benchmark

: Memory Latency

ค่า Latency ที่ลดลงแบบฮวบๆ เลยจาก DDR5-5200 CL38 ที่มีค่า Latency อยู่ที่ 75.8ns ค่อนข้างเยอะมากๆ เลยครับ จากนั้นเมื่อเอามาเทียบกับความเร็วแรม DDR5-7200 CL32 เราจะเห็นได้ว่าค่า Latency ลดลงมาเหลือเพียง 48.8ns เท่านั้น เท่ากับหายไป 27ns นี่คือเยอะ ถึงเยอะมากเลยนะครับ….

 

1080P Gaming Performance

     ชุดต่อไปเป็นผลของการเล่นเกม 3D ที่ความละเอียดหน้าจอ 1920x1080p เพื่อเช็คประสิทธิภาพของแรมว่า เมื่อ Overclock เพิ่มแล้วมันเล่นเกมได้เฟรมเฉลี่ย Average fps. เพิ่มขึ้นไหม โดยครั้งนี้เราเล่นเกมด้วยกราฟิกการ์ดจากทาง MSI RADEON RX 6900 XT GAMING X TRIO 16GB รุ่นใหญ่ของ AMD ไปเลย…  และจากผลการทดสอบที่ออกมาเราก็พบว่า เกมบางเกมที่ยังพึ่งกำลังของ System ทั้งในส่วนของ CPU (Mhz), จำนวนของเทรดประมวล และรบบ System Cache ที่รวมไปถึงแรมด้วยนั้น จะมีผลการทดสอบที่ออกมาค่อนข้างน่าสนใจมาก ทั้งๆ ที่ CPU ความเร็วเท่าเดิมและ VGA ก็ตัวเดิม… สิ่งที่ต่างคือความเร็วของแรม DDR5 เท่านั้น… เราจะเห็นได้ว่าอย่างเดิม GTA V Benchmark ในฉากที่ 4 นั้นให้ค่าเฟรมเรทเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาถึง 12.58fps เฉลี่ยกันเลยทีเดียว และในเกม Far Cry 5 Benchmark ก็ให้เฟรมเรทเฉลี่ย เพิ่มขึ้นมาอีกถึง 34 fps นี่มันขุมพลังของแรม DDR5 แบบชัดเจนเลยที่ช่วยพลักดันในระบบโดยรวมและตัวกราฟิกการ์ดทำให้ได้สมบูรณ์แบบที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วกราฟิกการ์ดของนั้นยังแรงได้อีก… เพียงแต่ต้องสะกิดจุดให้ถูก…   แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากตัวเกมมี Engine ที่เขียนมาพึ่งพาการทำงานของตัวกราฟิกการ์ดเป็นหลัก การ OC แรมแบบหนักๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเห็นผลเท่าไรนัก ลองดูอย่างเกมบางเกม ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก ต่างกันไม่กี่เฟรมเฉลี่ยเท่านั้น…

 

     และถ้าดูในรายละเอียดของเกม GTA V ในส่วนของ Benchmark ฉากที่ 4 ด้วยค่าเฟรมเรท MIN/AVG/MAX แล้ว เราจะยิ่งเห็นผลชัดเลยครับว่า การ OC แรม DDR5 ไปที่ความเร็วระดับ 7200 CL32 นั้นช่วยให้ค่า Min เฟรม จากที่ DDR5-5200 CL38 ทำได้เพียง 49.49fps (min) เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 70.56fps (min) จุดนี้แค่ค่า Min fps. ต่างกันถึง 21.07fps ถ้าใครบอกว่าแรมไม่ช่วยอะไรนี่ ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรแล้วล่ะครับ ฮ่าๆ  การ Overclock RAM ให้แรงและถูกต้องนั้น ช่วยอะไรได้เยอะจริงๆ ครับ… ส่วนใคร OC แรมแล้วบอกไม่รู้สึกต่าง…. คงต้องพิจารณาแล้วล่ะครับว่าเรามาสุดทางในสายนี้จริงแล้วหรือไม่?

 

GuRu Time By TT

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมของผลการทดสอบฉบับนี้ ท่านสามารถรับชมผ่านทางรายการ GuRu Time By TT Thermaltake ได้เลยครับ

 

Conclusion.

     เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความทดสอบความเร็วแรม DDR5 ที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของระบบได้อย่างไร แรมถ้าความเร็วที่สูง และค่าหน่วงเวลาในการเข้าถึงข้อมูลที่ต่ำ (CAS/CL) ก็ช่วยรีดพลังแฝงของระบบโดยรวมขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะในหัวข้อของการเล่นเกม เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า เกมที่ต้องการใช้ทรัพยากรณ์เครื่องหนักๆ อย่าง GTA V นั้นตอบสนองต่อความเร็วแรมและ CL แรมแค่ไหน… เฟรมเรทเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่างกันถึงระดับ 10fps+ มันก็ไม่ธรรมดาแล้ว ด้วยการปรับแต่งแค่เรื่องแรมอย่างเดียว…

     ถึงตรงนี้ผมก็ขอฝากบทความ DDR5-5200 CL38 VS DDR5-7200 CL32 เรื่องนี้ไว้ให้ผู้อ่านได้พิจารณาในส่วนของความเร็วและ CL ของแรมว่ามีผลต่อ System โดยรวมอย่างไร ผมเชื่อว่าบทความฉบับนี้น่าจะให้คำตอบได้อย่างชัดเจน  ใคร OC แรมแล้วบอกไม่รู้สึกอะไรเลย หรือไม่แรงขึ้นเลย คุณต้องกลับมาศึกษาและทบบวนแล้วล่ะครับว่าทำอย่างไรถึงจะไปได้สุดแบบนี้ และเห็นผลต่างแบบชัดเจน (ต้องคนที่อยากสุดจริงๆ เท่านั้นนะครับ ถึงจะคุ้มกับการมาศึกษาเรื่องแรม มันใช้เวลาเรียนรู้เยอะมาก เพราะตัวแปลเยอะ)

     สุดท้ายนี้ยังมีอีกหนึ่งเกมที่ผมชอบมากอย่าง Call Of Duty Modern Warfare ในโหมดของ Multi-Player และ Warzone ที่ต้องบอกเลยว่าเกมนี้ต้องการความแรงของระบบ System โดยรวมค่อนข้างมาก คือถ้า CPU แรง, RAM แรง ยิ่งเห็นผลชัดเจนครับ (กราฟิกการ์ดก็ควรจะแรงด้วยระดับหนึ่งนะครับ) เพราะเกมนี้เป็นเกมที่มีลักษณะการเล่นที่ค่อนข้างไว และ Sensitive ต่อผู้เล่นมากในการควบคุมตัวละครและระบบอาวุธ แต่น่าเสียดายที่ตัวเกมไม่มี Benchmark ออกมาให้… ผมจึงไม่สามารถวัดผลเป็นตัวเลข fps แบบชัดเจนมาให้เพื่อนๆ ชมได้  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้เลยก็คือความรู้สึกในต่อเล่นเกม.. มันต่างกันแบบสัมผัสได้จริงๆ โดยค่า Latency ยิ่งต่ำ เกมนี้ยิ่งได้เปรียบ… ตรงนี้มันตอบยาก… คุณต้องลองด้วยตัวเองครับ….

“แรมอาจจะไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป แต่ใครจะกล้าปฏิเสธแรมแรงๆ แบบนี้บ้างล่ะครับ”

 

Special Thanks

  • Thermaltake
  • INTEL
  • ROG Republic of Gamers
  • SuperCool Computer