ลากโหดๆ TT TOUGHRAM RGB @DDR4-5000Mhz CL18 รันเมมเทสผ่านได้ด้วยนะเออ…

     เมื่อพูดถึงแรม DDR4 ความเร็ว 5000Mhz แล้วนั้น เชื่อว่าหลายๆ ท่านอยากสัมผัสกันอย่างแน่นอน  แต่ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างทาง Hardware ในโลกปัจจุบันที่ผ่านมาก็ทำให้ความฝันของหลายๆ ท่านนั้นใกล้ความจริงขึ้น จากที่ความเร็วแรมระดับ 5K ที่เคยเป็นเพียงแค่ค่า Max Frequency หรือทำเพื่อโชว์ได้เท่านั้น !!! แต่ในวันนี้เราสามารถที่จะทำการ Overclock แรม DDR4 ให้พอที่จะสามารถใช้งานได้ในสภาวะแวดล้อมหรือ Ambient ปกติได้ โดยไม่ได้ใช้ชุดระบายความร้อนพิเศษแต่อย่างใด โดยทุกอย่างยังคงใช้ Heatspreader Stock เดิมจากโรงงาน

     องค์ประกอบของ Hardware ที่เอื้อต่อการรันแรมความเร็ว DDR4 ระดับ 5000Mhz นั้นมีอยู่ 3 อย่างที่สำคัญตามนี้เลยครับ อันดับแรก 1. คุณภาพของแรม (PCB+Chip)  2. เมนบอร์ดที่รองรับการ Overclock แรมที่ดี และสุดท้าย 3. คือความสามารถของ CPU ซึ่งบางรุ่น/บางค่าย ไม่เอื้อต่อการ Overclock แรมเท่าไรนัก ดังนั้น CPU ถือว่ามีผลต่อการ Overclock อยู่ด้วย แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพขอชิปแรมและเมนบอร์ด ซึ่งต้องเลือกให้ดีหรือให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ

 

     และในวันนี้เราก็มีแรม DDR4 จากค่าย Thermaltake ในรุ่น ToughRam RGB DDR4-4400Mhz มาทำการ Overclock ให้ชมกันในระดับ DDR4-5000Mhz CL18-26-26-46 ที่สามารถรัน Memtest ผ่านได้อีกด้วย… แต่ก่อนที่จะไปชมผลการทดสอบนั้นเรามาพูดถึงเรื่องความยากง่าย และการเลือก Hardware ที่เอื้อต่อการทดสอบกันก่อนครับ เพราะต้องบอกว่ามันก็ไม่ได้จะทำได้ง่ายกับเมนบอร์ดหรือแรมทั่วไปครับ

     เอาล่ะครับเริ่มกันเลยดีกว่าว่าบนโลกใบนี้มีแรม DDR4 ชิปอะไรบ้างที่เอื้อหรือมีความสามารถในการ Overclock ได้ถึงระดับ DDR4-5000Mhz ได้บ้าง ???  อันดับแรกเลยก็คือชิปแรม DDR4 จากค่าย Samsung รหัส B-Die ซึ่งพบในแรมระดับ Hi-End ทั่วไป ซึ่งสามารถไปแตะความเร็วระดับ DDR4-5000Mhz+ ได้ แต่ยังไม่สามารถที่จะนำมาจับ Burn-In หรือใช้งานได้จริงๆ ยังคงเป็นเรื่องยาก หรือบางทีทำงานได้ แต่ต้องคลาย CL ค่อนข้างเยอะ…. และในตอนนี้ชิป B-Die เกรดดีๆ ก็เริ่มหายากและแพงขึ้นอีกด้วย…. แต่ถามว่าพอมีให้เห็นไหม? มีครับผมพอจะเห็นเมืองนอก Post บ้าง แต่น้อยมากจริงๆ

     ต่อไปก็คือชิปแรมจากค่าย Micron ซึ่งอยู่ๆ ก็มีโผล่ออกมาในรหัส E-Die ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแรมความเร็วระดับ DDR4-5000Mhz+ ที่สามารถที่จะ Burn-In แบบใช้งานจริงได้ที่ CL 18 ด้วยไฟเลี้ยงตั้งแต่ 1.65V+ ขึ้นไปครับ โดยชิปนี้น่าจะเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่พักใหญ่เลยก็ได้ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมาก และเริ่มมี Brand ดังหลายค่าย เริ่มจับไปทำแรมความเร็วสูงในระดับ DDR4-5000Mhz ออกจากโรงงาน แต่ส่วนตัวผมเองแล้ว ยังไม่เคยสัมผัสกับชิป Micron E-Die เลย จึงยังไม่ขอพูดถึงอารมณ์หรือผลการ OC ของแรมชิปนี้ละกันครับ

     และล่าสุดเลยกับแรมชิป Hynix ซึ่งก่อนหน้านี้จะดังในรหัส CJR หรือ C-Die โดยมีบางตัวที่คัดมาดีๆ สามารถ OC ได้ถึง 4400Mhz+++ ได้ไม่ยากเย็นเลย และแบบ Single Channel นั้นก็พอที่จะไปได้ถึง DDR4-4800Mhz+ ได้ด้วยเช่นกันครับ และมีบางรายงาน มันสามารถไปได้ถึง DDR4-5000Mhz+ ได้ด้วยเช่นกันแต่คงต้องเล่น LN2 ด้วย และสำหรับชิปล่าสุดที่ทาง Hynix พัฒณาออกมาก็คือรหัส DJR หรือ D-Die นั่นเอง โดยชิปตัวนี้จะลดกระบวนการผลิตลงมาเหลือเพียง 17nm. รหัส Codename “Davinci”  ส่วนชิปก่อนหน้านี้ที่เป็นรหัส CJR C-Die จะผลิตขึ้นที่กระบวนการ 18nm. หรัส Code Name “Alius” ซึ่งใหญ่กว่ากัน 1nm. เท่านั้นเอง

     ข้อดี/จุดเด่นของชิป Hynix DJR ตัวใหม่ก็คือ สามารถที่จะนำมาคัดทำแรมความเร็ว DDR4-4000Mhz+ ได้จากโรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเห็นแรมชิป Hynix C-Die มากจะมีให้เลือกซื้อกันสูงสุดที่ความเร็ว DDR4-3600-3800Mhz+ ก็เต็มที่แล้ว เพราะมันยังถือว่าเป็นจุดที่ยากสำหรับ C-Die ในยุคนั้น  ส่วนเจ้า D-Die หรือ DJR นั้นสามารถที่จะรันบนความเร็ว DDR-4000Mhz ถึง DDR4-4400Mhz แบบ XMP จากโรงงานได้เลย โดยใช้ไฟเลี้ยงต่ำในช่วง 1.35-1.45V ก็เสถียรภาพแล้ว ซึ่งจุดนี้จะต่างกับชิป C-Die CJR อย่างชัดเจน

     และสำหรับแรม Hynix DJR D-Die นั้นหาจับได้ยากไหม บอกเลยว่า ตอนนี้ผมเห็นทาง Thermaltake เริ่มนำมาใส่แรมและจำหน่ายในบ้านเราเป็นจ้าวแรกๆ เลย โดยจะพบในแรมตระกูล ToughRam RGB ในรุ่นที่มีความเร็วตั้งแต่ DDR4-4000Mhz ขึ้นไปจะเป็นชิป DJR ทั้งหมดครับ โดยเพื่อนๆ สามารถความสามารถในการ Overclock ได้ในรีวิวของ TT ToughRam RGB DDR4-4400Mhz CL19-25-25-45 16GB-Kit ที่เรารีวิวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถรันบน Intel Z390 Platform ได้ถึงความเร็วระดับ DDR4-4800Mhz CL19-26-26-46 ด้วยไฟเลี้ยงแรม 1.65V โดยสามารถรัน Memtest ผ่านได้ถึง 1600%+ กับระยะเวลาในการ Burn-In 4 ชั่วโมงกว่าผ่านได้แบบไม่มีปัญหาใดๆ  ซึ่งก็ถือว่าแปลกดีนะครับ ที่มันยังสามารถัน Memtest ผ่านได้ด้วยไฟเลี้ยงระดับ 1.65V ในห้องไม่แอร์ 28-30c ผ่านได้แบบหน้าตาเฉย ซึ่งแรมค่ายอื่น ไม่น่าจะทนอยู่ได้ อันนี้ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของชิปแรม Hynix รหัส DJR ตัวใหม่ (แต่เรื่องความทนทาน ยังคงต้องวัดใจกันในระยะยาวครับ ซึ่งตอนที่ผมทดลองอยู่ ยังไม่เจอปัญหาใดๆ ว่าแรมจะเอ๋อ หรืองอแงจากการอัดไฟสูงเกิน 1.55V  แต่ถ้าถามว่าควรระวังไหม บอกเลยว่า ยังคงต้องระวังครับ)

 

     มาพูดถึงเมนบอร์ดกันต่อบ้างครับ โดยบทความนี้เราจะขอเน้นไปที่ทาง AMD Ryzen Platform เป็นหลักก่อนนะครับ เพราะมีโอกาสที่จะ Overclock แรมในความถี่สูงๆ ได้เกินระดับ DDR4-4933 ถึง 5000Mhz ได้ง่ายกว่า ด้วยระบบ Fclk/Mclk 2:1 (สายท่อ) ให้สามารถ Overclock แรม DDR4 เกินระดับความเร็ว 4000Mhz+ ได้ง่ายขึ้น  และสำหรับเมนบอร์ดที่เราเลือกใช้ในครั้งนี้ก็เป็นตัวแรงจากสำนัก ROG ในรุ่น CROSSHAIR VIII IMPACT (AMD X570 Chipset) ซึ่งมีการพัฒนาให้สามารถ Overclock แรมได้ดีเป็นพิเศษ และหลายๆ ท่านอาจจะเห็นเมืองนอกโชว์กันมาบ้างแล้วว่าสามารถรันแรม DDR4-5000Mhz แบบเผ่าด้วย Memtest ผ่านได้หลายร้อย % แต่ก็ไม่มีใครโชว์ Performance อื่นๆ หรือตัวเล็กของ Sub-Timing ให้เราเห็นมากนัก

     และสำหรับตัวผู้เขียนเองก็ได้ทดลอง Overclock แรมชิป Hynix DJR กับเมนบอร์ดตัวนี้มาอยู่พักใหญ่ครับ ตั้งแต่ปลายที่แล้วตั้งแต่มีการเปิดตัวมาในช่วงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา โดยพยายาม OC ให้ได้ระดับ DDR4-5000Mhz ให้บูทได้ แต่ก็ยากมากครับในตอนช่วงนั้น โดยบูทกี่ครั้งก็ไม่เคยติดเลย ฮ่าๆ…..   และหลังจากนั้นอีกไม่นานมาก ผมก็เห็นเมนบอร์ดรุ่นนี้ออก BIOS ใหม่เป็น Rev. 1201 จึงได้ทดลอง Overclock ร่วมกับแรม DJR คู่เดิมที่เรามีอยู่ก็พบว่าสามารถบูทแรมในระดับ DDR4-5000Mhz CL18-26-26-46 ได้แบบนิ่มๆ เลย โดยปรับยังไงก็บูทแน่นอน แต่แรมของเราที่มีอยู่ใช้ไฟค่อนข้างเยอะครับ คือต้องใช้ไฟเลี้ยงถึงระดับ 1.75V+ ถึงพอจะบูทติดได้ และถ้าต้องการความเสถียรภาพในการทำงานหรือจับ Burn Memtest ต้องใช้ไฟเลี้ยงมหาโหดถึง 1.85V กันเลยทีเดียว ถึงจะนิ่ง….  โอ้ว์… แม่จ้าวไฟแรม 1.85V ใครเห็นก็คิดว่าบ้าแน่นอน…. มันไม่พังหรืออย่างไร ???   ซึ่งตรงนี้ผมบอกไว้ก่อนเลยว่าผมก็แค่ทดลอง และวิจัยไปเรื่อยของผมเอง ว่าชิปแรม DJR นั้นมีอารมณ์แบบไหน ชอบไฟเลี้ยงเยอะๆ หรือชอบอุณหภูมิเย็นๆ และเล่นยาก/ง่ายอย่างไร จนสุดท้ายก็มาพบว่า มันชอบไฟเลี้ยงสูงๆ นั่นเอง… แต่ก็มีเรื่องที่แปลกอยู่ว่าไฟเยอะขนาดนี้ ทำไมมันถึงยังทนให้เรา Burn เมมเทสผ่านได้เป็นชั่วโมงเลยนะเออ….

     สรุปง่ายๆ เลยก็คือแรมชิป Hynix DJR รุ่นใหม่ เป็นโครงสร้างของชิปแรมที่มีแนวโม้นว่าจะใช้ไฟเลี้ยงสูงๆ ได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือยิ่งอัดไฟ ยิ่งทำให้รันแรมความเร็วสูงๆ ได้นั่นเอง  และข้อดีอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือชิป Hynix DJR ควบคุมเรื่อง Ambient Room หรืออุณหภูมิห้องได้ไม่ยากเลย…  คือห้องธรรมดาไม่เปิดแอร์ 30-32c มันก็พอจะ Burn-In ได้ครับ ไม่จุกจิก และไม่ค่อยงอแงเวลามีความร้อนสูงๆ โดยหาพัดลมมาพัดให้มี Air-Flow ผ่านก็ ok แล้ว