ทดสอบจริง CPU Intel Core i9-7940X 14Core 28Thread

     สวัสดีครับ วันนี้เรามี CPU รุ่นใหญ่จากค่าย Intel อีกรุ่นหนึ่งในตระกูล X-Series มาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกันอีกหนึ่งรุ่น นั่นคือ Intel Core i9-7940X Processor ที่จำนวนของคอร์ประมวลผลมาให้ถึง 14Core/28Thread กันเลยทีเดียว และจัดว่าเป็น CPU ในระดับ HEDT Platform (high-end desktop) ของทาง Intel อีกด้วยครับ.. ดังนั้นใครที่ทำงานสายตัดต่อ เรนเดอร์ต่างๆ น่าจะได้ประโยชน์จากเจ้า Intel Core i9-7940X ตัวนี้อยู่มิใช่น้อย…..  เอาล่ะครับ ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดทางด้านเทคนิคต่างๆ ของเจ้า CPU รุ่นนี้ เรามาดูถึงราคากันก่อนเลยดีกว่ามีต้องกำเงินไปเท่าไร ถึงจะได้ครอบครอง….. สำหรับค่าตัวที่ทาง Intel ได้ประกาศเป็นราคากลาง ณ วันนี้… แจ้งไว้อยู่ที่ตัวละประมาณ  $1,199.99USD หรือตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 4x,xxx.- บาท โดยประมาณครับ

     แล้วใครเหมาะกับ CPU รุ่นนี้ ?  คำตอบนั้น… ถ้าเอาแบบถามตัวผมเองที่เน้นการ Overclock เพื่อการปั่นคะแนนแข่งขัน Benchmark ต่างๆ และเล่นเกม…. ตอบได้เลยว่า ถ้าในเรื่องของการ Overclock นั้น CPU รุ่นนี้จัดว่าเป็นพี่ใหญ่ในตระกูล X-Series รุ่นหนึ่ง ที่มีแกนประมวลผลถึง 14 Core และมีเทคโนโลยีจำลองคอร์เสมือนด้วย Intel Hyper Threading Technology หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า HT  จึงทำให้ CPU Intel Core i9-7940X ตัวนี้ทำงานได้แบบ 14Core/28Thread กันเลยทีเดียว ดังนั้นหากเอา CPU รุ่นนี้ไป Benchmark วัดประสิทธิภาพด้านในที่เน้น Multi-Thread หรือโปรแกรมต่างๆ ที่เอื้อต่อการประมวลแบบหลายคอร์ CPU รุ่นนี้จะได้เปรียบอย่างแน่นอน เพราะสามารถปั่นคะแนนได้เยอะกว่า และถ้าทางด้านการทำงาน ถ้าใครเอาไป Rendering/Encoding/Streaming หรืองานด้านตัดต่อก็จะได้ทำงานที่รวดเร็วขึ้น เพราะตัว CPU นั้นมีคอร์ในการประมวลผลที่มากกว่า CPU ทั่วๆ ไปที่มักจะอยู่ที่ 4-6 คอร์เท่านั้น….

     ส่วนด้านการเล่นเกมนั้นผมมองว่ามันทำได้อยู่แล้ว…. แต่อาจจะเกินความจำเป็นไปสักนิด หากว่าตัวผู้ใช้มุ่งที่จะเล่นเกมเป็นหลักอย่างเดียว อาจจะดูไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปเท่าไรนัก….  นอกจากเสียว่าคุณจะเป็นสาย Streamer ที่เน้นเล่นเกมและ Stream Game เป็นหลัก อันนี้เห็นด้วยอย่างชัดเจนเลยเพราะถ้าต้องการคุณภาพของภาพที่ส่งผลออกไปให้ผู้ชมได้ชมแบบคมชัด การเลือก CPU Encoding จะให้ภาพที่คมชัดกว่าการใช้ GPU Encoding แบบชัดเจน…  แต่การใช้ CPU เป็นตัว Encoding นั้นก็ต้องพึ่งจำนวนคอร์ในการประมวลผลที่เป็นหลัก เพราะมีเท่าไรก็ยิ่งดีครับ ใช้ครบทุกคอร์อย่างแน่นอน และถ้ายิ่งเราตั้งการประมวลผลภาพที่คมชัดด้วยแล้ว CPU ก็จะทำงานหนักมากขึ้น  ดังนั้น Intel Core i9-7940X ที่มีจำนวนคอร์ในการประมวลผลแบบ 14Core/28Thread นั้นน่าจะเข้าทางสาย Streamer อยู่นะผมว่า…. ยิ่งคนที่ปล่อยหลายๆ ช่องด้วย น่าจะเห็นผลชัดเจน  แต่ถ้าเอาไปเล่นเกมเฉยๆ ผมบอกเลยว่า เกินความจำเป็น…. (แต่ถ้าเล่นเกมไปด้วยและทำงานไปพร้อมๆ กันด้วย ก็อาจจะดูคุ้มค่าขึ้นมาอีกนิด ฮ่าๆ…)  และยังมีอีกหลายเกมที่ไม่ได้เรียกใช้คอร์ในการประมวลผลถึงขนาด 28 Threads นะครับ ดังนั้นก่อนซื้ออะไรก็ตาม ให้พิจารณาถึงความต้องการของเราเป็นหลักก่อน และก็เรื่องของงบประมาณที่ต้องการลงทุนไปกับตัว Processor และ Hardware ส่วนอื่นๆ…… สรุปแล้ว งานตรงๆ ของ CPU รุ่นนี้ ก็เน้นปั่นคะแนน Benchmark ที่เน้นแบบ Multi-Threads ได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว และงานที่ตรงกับความต้องการก็คืองานด้าน Rendering/Encoding และ Streaming เป็นหลัก…. ส่วนเรื่องเกมก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว….

     CPU รุ่นนี้คือรุ่น Intel Core i9-7940X 14Core/28Thread โดยมีขนาดของ L3 Cache อยู่ที่ 19.25MB ความเร็วในการทำงานนั้น Clock Base จริงๆ อยู่ที่ 3.1Ghz ทุกคอร์ และมีเทคโนโลยี Intel Turbo Boost2.0 ที่ทำการ Overclock เร่งความเร็วขึ้นให้เองแบบอัตโนมัติสูงสุดที่ 4.3Ghz และยังบูสได้สูงสุด ด้วย Intel Turbo Boost Max 3.0 สูงสุดได้ที่ 4.4Ghz กันเลยที่เดียวครับ และที่สำคัญมันสามารถปลดล็อคตัวคูณของ CPU Ratio, Cache Ratio, AVX offset, BCLK และ Memory Ratio ได้อย่างอิสระด้วยเช่นเดียวกับ CPU ในตระกูล K-Series จึงทำให้มันสามารถ Overclock ได้ถึงขีดสุดกันเลยทีเดียว

     ส่วนชื่อ Code name ของ CPU รุ่นนี้คือ Skylake-X ผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยี 14nm. อัตราการใช้พลังงานอยู่ที่ระดับ TDP 165Watt และต้องต่อใช้งานร่วมกับ Socket LGA-2066 ที่มาพร้อมกับชิปเซ็ตรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Intel X299 Chipset  ส่วนเรื่องของระบบ Memory นั้นก็จะต้องต่อใช้งานร่วมกับแรม DDR4 แบบ Quad-Channel 256-bit จำวนวน 4 แถว โดยความเร็วในการทำงานที่รองรับแบบ Native เลยก็คือ DDR4-2666 (1333Mhz) และความจุที่ติดติดได้สูงสุดอยู่ที่ 128GB

 

     ส่วนรายละเอียดทางด้านเทคนิคเทียบกับ CPU ในตระกูล X-Series รุ่นต่างๆ นั้นก็ตามตารางด้านบนนี้เลยครับ ซึ่งทั้งหมดได้ประกาศเปิดตัวไปในช่วงงาน Computex 2017 ปีที่ผ่านมานั่นเอง… โดยเจ้า Intel Core i9-7940X นั้นจัดว่าเป็น Core i9 ในระดับกลางๆ Series พอดีเลยครับ โดยจะมีรุ่นพี่อีก 2 รุ่นคือ Core i9-7960X 16C/32T และ Intel Core i9-7980XE 18C/36T กันเลยทีเดียว…  และในส่วนของน้องเล็กในตระกูล Kabylake-X นั้นก็จะโผล่มาบน X299 Platform ด้วยกันอีก 2 รุ่น ได้แก่ Intel Core i5-7640X 4C/4T และ Intel Core i7-7740X 4C/8T โดยทั้ง 2 รุ่นนี้จะรองรับการทำงานกับแรมแบบ Dual Channel ได้เท่านั้น….

 

Intel 18-Core Skylake-X die

ภาพที่เห็นด้านบนนี้คือภาพของ die CPU หรือแกนประมวลของ CPU ที่อยู่ด้านในกระดองนั่นเองครับ โดยตรงนี้จะแสดงให้เห็นถึงภาพของแกนประมวลผลของ CPU รุ่นใหญ่สุดในตระกูล Skylake-X 14nm. ในรุ่น Core i9-7980XE ที่มีจำนวนคอร์มากถึง 18 Core บน die เดียวกัน

 

ระบบการทำงานของ L2 Cache และ L3 Cache ทำการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ถึงแม้จะดูเหมือนว่าขนาดของ Cache L3 ของ CPU Skylake-X นั้นดูมีขนาดเล็กลง เมื่อเทียบกับ CPU รุ่นก่อนหน้านี้ แต่ทาง Intel ได้ออกแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น โดยให้ L2 Cache หรือ MLC (mid-level cache) แบบ Private ส่วนตัวให้แต่ละคอร์ คอร์ละ 1MB จึงทำให้ CPU แต่ละคอร์นั้นมีข้อมูลใน L2 มากกว่า CPU รุ่นก่อนหน้านี้ที่มีเพียงคอร์ละ 256KB. เท่านั้น และในส่วนของ L3 Cache นั้นก็แชร์ให้แต่ละคอร์ที่ 1.375MB  และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไม Cache L3 ของ CPU Skylake-X ถึงมีน้อยกว่า Broadwell-E

 

และนี่ก็คือตารางการเปรียบเทียบ Spec ของ CPU Skylake-X เทียบกับกับ CPU รุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Broadwell-E และ Hasswell-E ซึ่งนอกจากการปรับปรุงเรื่องของการทำงานของระบบ Cache L2 และ L3 ใหม่แล้วยังเพิ่ม PCIe Lanes เข้าไปในตัว CPU สูงสุดถึง 44 Lane (ยกเว้นในรุ่น 7800X, 7820X จะมีเพียง 28 เท่านั้น) เมื่อเทียบกับ Broadwell-E จะมีเพียง 40 Lanes เท่านั้น

 

ในระบบ Intel Turbo Boost Max Technology 3.0 นั้นจะเป็นการต่อยอดการ Overclock แบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงานของคอร์ที่ดีที่สุด 1-2 Core ให้เร็วขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น Intel Core i9-7940X ตัวนี้มีระบบ Turbo Boost 2.0 ติดตัวมาอยู่แล้ว ซึ่งมันจะเร่งความเร็วของ CPU ได้สูงสุด 4.3Ghz และสำหรับ Turbo Boost Max Technology 3.0 นั้นจะค้นหา CPU 1-2 คอร์ที่ดีที่สุด มาเร่งการทำงานของคอร์นั้นๆ ให้ทำงานได้สูงสุดได้อีกที่ 4.4Ghz เป็นต้นครับ และหากว่ามี Work Load หนักๆ ขึ้นมาก็จะกลับไปทำงานด้วยระบบ Turbo Boost 2.0 เป็นพื้นฐานเหมือนเดิม

สรุปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนบน Intel X-Series Processors เราจะขอแบ่งระดับของ CPU ในแต่ละรุ่นดังนี้

Skylake-X 14nm. Processor (Memory DDR4 Quad-Channel)  :

  • Intel Core i9-7980XE EXTREME EDITION | 18C/36T | L3 24.75MB
  • Intel Core i9-7960X | 16C/32T | L3 22 MB
  • Intel Core i9-7940X | 14C/28T | L3 19.25MB
  • Intel Core i9-7920X | 12C/24T | L3 16.5MB
  • Intel Core i9-7900X | 10C/20T | L3 13.75MB
  • Intel Core i7-7820X | 8C/16T | L3 11MB
  • Intel Core i7-7800X | 6C/12T | L3 8.25MB

 


Kabylake-X 14nm. Processor (Memory DDR4 Dual-Channel)

  • Intel Core i7-7740X | 4C/8T | L3 8MB
  • Intel Core i5-7640X | 4C/4T | L3 6MB

 

Intel Core i9-7940X Processor

และนี่ก็คือหน้าตาของ Intel Processor ในรุ่น Core i9-7940X ที่จะมาพร้อมกับจำนวนแกนประมวลผลด้านในถึง 14 Core/28Thread และมาพร้อมกับความเร็วในการทำงานสูงสุดด้วยเทคโนโลยี Intel Turbo Boost3.0 Max ถึงระดับ 4.4Ghz กันเลยทีเดียว (CPU clock base @ 3.1Ghz all core) ขนาดของ L3 Cache อยู่ที่ 19.25MB, L2 Cache ขนาด 1MB ต่อหนึ่งคอร์ และขนาดของ L1 Cache ทั้งในส่วนของ L1 Data/L1 instruction นั้นอยู่ที่ชุดละ 32Kb ในแต่ละคอร์  ส่วนชุดคำสั่งใหม่ๆ นั้นก็จัดมาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Intel SSE4.1, Intel SSE4.2, Intel AVX2 และ Intel AVX-512 เป็นต้น… ส่วน PCI-E Lane บน CPU รุ่นนี้จะอยู่ที่ 44 Lane สูงสุด   ส่วนเรื่องความสามารถในการ Overclock นั้นก็จัดเต็มทุกอย่างแบบ Unlocked ซึ่งเราสามารถ Overclock CPU และปรับอัตราทดแรมได้อย่างอิสระ

 

CPU รุ่นนี้ออกแบบมาให้ต่อใช้งานร่วมกับ Socket LGA-2066 ที่ทำงานร่วมกับเมนบอร์ดชิปเซ็ต Intel X299 Chipset ที่รองรับการทำงานร่วมกับ Memory DDR4 แบบ Quad Channel 256-Bit ที่ความเร็วแบบ Native ที่ DDR4-2666 (1333Mhz) และยังสามารถรองรับความเร็วสูงๆ แบบ Overclock Module ได้สูงสุดถึงระดับ DDR4-4000Mhz+ แบบ Quad-Channel ได้เลยทีเดียวครับ โดยทั้งนี้และทั้งขึ้น ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถของเมนบอร์ดและตัว Memory DDR4 รุ่นนั้นๆ ด้วย…..

 

X299 Motherboard

และสำหรับเมนบอร์ดที่เราเลือกใช้ในการรีวิวครั้งนี้คือ ASUS ROG RAMPAGE VI APEX ที่มาพร้อมกับ Socket LGA-2066 และ Intel X299 Chipset ครับ โดยจุดเด่นของเมนบอร์ดรุ่นนี้ คือการปรุงแต่งมาแบบพิเศษจากสำนัก ROG ที่เน้นในเรื่องของ Gaming และการ Overclocking ในแบบสุดขีด ทั้งการ Overclock CPU และ Memory DDR4 นั้นถือว่าจัดเต็มอย่างแน่นอนครับ

ส่วนเรื่องของรายละเอียดบนตัว Intel X299 Chipset ที่มาพร้อมกับ Socket LGA-2066 นั้นก็หลักๆ แล้วก็จะเชื่อมต่อกันระหว่าง CPU และ Chipset ด้วยช่องทางส่งข้อมูลความเร็วสูงที่เรียกว่า DMI 3.0 (Direct Media Interface) ซึ่งภายในตัวชิปเซ็ต X299 นั้นจะมีทั้งหมด 24 PCIe Lanes และเมื่อรวมกับตัว CPU ที่ 44 Lanes จะเท่ากับว่าทั้งระบบมี PCIe Lanes ทั้งหมดถึง 68 Lanes กันเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ยังรองรับ Intel Optane Memory ได้อีกด้วยครับ ดังนั้นใครที่กำลังมองหา Optane SSD รุ่นใหม่ความเร็วแรงๆ อยู่ก็สามารถนำมาติดตั้งร่วมกับ Platform นี้ได้ทันที และส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของชิปเซ็ต Intel X299 นั้นก็จะมีช่องทางส่งข้อมูลความเร็วสูงทั้งหมด 30 PCIe Lane โดยแบ่งการทำงานย่อยได้ดังนี้คือ แบ่งเป็น PCIe3.0 ได้ทั้งหมด 24 Lanes, รองรับ SATA3.0 ได้ 8 Ports และ USB3.0 ได้อีก 10 Ports

 

แรม DDR4 ที่เลือกใช้ในการรีวิวในครั้งนี้ก็ขอจับแรมต่างค่ายมาผสมกันระหว่าง GALAX GOC DDR4-4400Mhz CL19 16GB-KIT ร่วมกับ G.SKILL DDR4-3200CL14 16GB-Kit โดยเราทำการ Config ให้แรม DDR4 ที่ต่อแบบ Quad-Channel ชุดนี้ทำงานที่ความเร็ว DDR4-3200Mhz CL14-14-14-34 1T ครับ….  ส่วนความเร็วแบบ Native จริงๆ ของ CPU นั้นสามารถทำงานร่วมกับแรม DDR4 ความเร็วสูงสุดที่ 2666Mhz ได้แบบชัวๆ   ส่วนความเร็วแรมที่สูงกว่านี้จะถือว่าเป็นความเร็วแบบ Overclock Module ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบความเข้ากันได้ของ Hardware ก็คือผู้ผลิต Memory DDR4 Module และผู้ผลิต Motherboard ว่าจะออกแบบมาให้ CPU ขับแรมได้สูงสุดเท่าใด…..

 

System Pic & Setup

ภาพบรรยากาศในการทดสอบครั้งนี้ โดยการเก็บผลทดสอบนั้นเราจะทำการ Compare เปรียบเทียบกับ CPU ในรุ่น Intel Core i7-7700K 4C/8T, Intel Core i7-8700K 6C/12T และ AMD RYZEN 7 1800X 8C/16T

Hardware Spec.
 CPU
-Intel Core i7-7700K 4C/8T [Kabylake 14nm.]
-Intel Core i7-8700K 6C/12T [Coffeelake 14nm.]
 -Intel Core i9-7940X 14C/28T [Skylake-X 14nm.]
-AMD RYZEN 7 1800X 8C/16T [Summit Ridge 14nm.]
 CPU Cooler  Thermaltake Floe Riing 360 RGB TT Premium Edition
 Motherboard
-GIGABYTE AORUS Z270X-GAMING 7 [Intel Z270]
-ASUS ROG MAXIMUS X APEX [Intel Z370]
-ASUS ROG RAMPAGE VI APEX [Intel X299]
ASUS ROG STRIX X470-F GAMING [AMD X470]
 Memory
-GALAX GOC DDR4-4400CL19 16GB-Kit (8GBx2) B-Die
-G.SKILL TridentZ DDR4-3200CL14 16GB-Kit (8GBx2) B-Die
 VGA -ASUS ROG STRIX GTX1070 Ti Advance 8GB
-ASUS CEBERUS GTX1070 Ti 8GB (For SLI Results)
 Hard Drive
 Apacer Phanter AS340 240GB x1 (OS Drive)
WD Blue 1TB x1 (Game Drive)
 PSU  Thermaltake ToughPower iRGB PLUS 1200 Watt
 OS  Windows 10 Pro 64 bit [Last Update] 1803 2018-5

 

System Config.

รายละเอียดของชุดทดสอบ Intel Core i9-7940X 14C/28T ในครั้งนี้เราก็จะทำการ Config ด้วยค่าความเร็วในการทำงานของ CPU แบบเดิมๆ จากโรงงาน Default Setting และทำงานร่วมกับแรม DDR4 แบบ Quad-Channel ความเร็ว DDR4-3200 (1600Mhz) CL14-14-14-34 1T

 

System Overclock Configส่วนผลการทดสอบแบบ Overclock ที่เราได้เพิ่มลงไปในส่วนของ Compare นั้นก็จะทำการ Overclock CPU Intel Core i9-7940X ตัวนี้ขึ้นไปที่ความเร็ว 4.5Ghz/Cache 3.0Ghz + DDR4-4000CL17-18-18-41 1T เทียบให้ชมถึงประสิทธิภาพจากการ Overclock กันด้วยครับ

 

[System Compare]

: Intel Core i7-7700K 4C/8T

รายละเอียดทางด้านภาพของชุด System ที่นำมาทดสอบเพื่อเปรียบเทียบในครั้งนี้ก็ได้แก่ชุดแรกเลยกับ CPU Intel Core i7-7700K 4C/8T [Kabylake 14nm.] ทำงานร่วมกับเมนบอร์ด GIGABYTE AORUS Z270X-GAMING 7

 


: Intel Core i7-8700K 6C/12T

รายละเอียดของชุดทดสอบด้วย CPU Intel Core i7-8700K 6C/12T [Coffeelake 14nm.] ร่วมกับเมนบอร์ด ASUS ROG MAXIMUS X APEX

 


: AMD RYZEN 7 1800X 8C/16T

รายละเอียดของชุดทดสอบ AMD RYZEN 7 1800X ที่ทำงานร่วมกับเมนบอร์ด ASUS ROG STRIX X470-F GAMING โดยชุดทดสอบทั้งหมดจะปรับแต่งความเร็วของแรมที่ DDR4-3200CL14-14-14-34 1T เท่ากันทุกชุดครับ

 

Power Consumption & CPU Temperature Test

: Results

และก่อนที่จะไปรับชมผลการทดสอบในด้านต่างๆ ของ CPU Intel Core i9-7940X 14C/28T ตัวนี้ เราก็มาชมผลการทดสอบทางด้านความร้อนที่เกิดจากตัว CPU รุ่นนี้กันก่อนเลยครับ ซึ่งครั้งนี้เราจะระบายความร้อนให้กับตัว CPU ด้วยชุดน้ำสำเร็จรูปแบบ All-In-One Cooling จากค่าย Thermaltake รุ่น Floe Riing 360 RGB TT Premium Edtion โดยเราจะทดสอบทุก System ในห้องแอร์อุณหภูมิ 24c ถึง 25c องศาเซลเซียสตลอดการทดสอบ

 

และจากการทดสอบพบว่าที่ความเร็ว Default ของ CPU Intel Core i9-7940X นั้นอุณหภูมิช่วง Idle/Full Load อยู่ที่ 26/69.5c องศาเซลเซียสเท่านั้น และหลังจาก Overclock CPU ขึ้นไปในระดับ 4.5Ghz/Cache 3.0Ghz Vcore 1.28V นั้นพบว่าช่วง Full Load ด้วยโปรแกรม CPUID Powermax ที่ใช้ Code AVX ในการทดสอบ Burn-in เป็นเวลา 5 นาที นั้นแสดงให้เห็นความร้อนในระดับ 100c+ กันเลยทีเดียวครับหุหุ…. ใครคิดเจะ Overclock CPU รุ่นใหญ่แบบนี้ คุณต้องแน่ใจก่อนว่ามีชุด Cooling ที่รับมือได้หรือป่าว….   สรุปแล้วถ้่าใช้งานเดิมๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องความร้อนใดๆ ทั้งสิ้นครับ

 


Power Consumption

CPU : Idle Load

มาดูกันต่อในเรื่องของอัตราการบริโภคพลังงานของ CPU ต่อกันบ้างครับ นี่คือความเร็วเดิมๆ แบบ Default Setting กินไฟช่วง Idle เพียง 96.2Watt เท่านั้นเองครับ

 

CPU : Full Load

CPU เดิมๆ Full Load กินไฟสูงสุดที่ประมาณ 429Watt Peak สูงสุดครับ  และถ้าจับ GPU GTX 1070 Ti Burn-In พร้อมกันด้วยจะกินไฟราวๆ 600Watt ทั้ง System ครับ


CPU Overclock 4.5Ghz : Full Load

และผลการทดสอบแบบ Overclock CPU Intel Core i7-7940X @ 4.5Ghz/Cache 3.0Ghz + DDR4-4000CL17-18-18-14 1T Quad-Channel นั้นจะกินไฟสูงสุดเฉพาะ CPU อยู่ที่ 776Watt Peak กันเลยทีเดียวครับ หุหุ… ดังนั้นหา PSU ดีๆ สักลูกรอเลยหากใครคิดจะ Overclock บน Platform นี้

 

Benchmark Results :

มาดูประสิทธิภาพในการทำงานที่วัดจาก Benchmark ต่างๆ ที่เรานำมาให้ชมกันในครั้งนี้กว่า 14 รายการ และชุดทดสอบ 5 ชุดรวมทั้ง Intel Core i9-7940X 14C/28T ตัวนี้ด้วย   ไปชมความแรงกันเลยครับ…

 

Super Pi 32MB

โปรแกรม Benchmark ทดสอบแรกกับ Super Pi 32MB แบบหัวเดียว Single Thread นั้นความเร็วเดิมๆ ของ Core i9-7940X นั้นใช้เวลาในการคำนวณที่ 451.239 วินาที และเมื่อทำการ Overclock @ 4.5Ghz แล้วพบว่าใช้เวลาในการทดสอบดีที่สุดในตางรางที่เวลา 414.871 วินาที

 

AIDA64 Cache & Memory Bandwidth

ในด้านของผลการทดสอบแบบ Memory Bandwidth นั้นบอกได้เลยว่า CPU ที่ทำงานบนแรมแบบ Quad-Channel นั้นได้เปรียบอย่างชัดเจนครับ ฮ่าๆ….

 

AIDA64 Cache & Memory Latency

ส่วนด้านเรื่อง Latency นั้นจะเป็น CPU i7-7700K ที่ทำได้ดีที่สุดคือ 41.9ns. ส่วน i9-7940X นั้นแบบเดิมๆ มีค่า Latency อยู่ที่ 68.1ns. และหลังจาก OC แล้วก็ดีขึ้นแบบชัดเจนที่ 54.5ns.

 

CPU-Z Benchmark

ผลการทดสอบในส่วนของ CPU-Z Benchmark นั้นถ้าดูในส่วนของ CPU Multi-Thread แล้วเจ้า i9-7940X ที่มีจำนวนแกนประมลผลมากถึง 14 Core/28Thread นั้นสามารถปั่นคะแนนได้มากถึง 7,727.2 แต้มกันเลยทีเดียว และเมื่อ OC @ 4.5Ghz แล้วสามารถปั่นแต้มขึ้นไปได้อีกถึงระดับ 9,053.6 แต้มกันเลยทีเดียว หุหุ…

 

Cinebench R15.038 64-Bit

ส่วน Cinebench R15 ตัวล่าสุดก็สามารถทำคะแนนแบบ Multi-Thread ได้ที่ 2,964 แต้ม และหลัง OC แล้วก็ปั่นคะแนนได้ถึง 3,527 แต้มกันเลยทีเดียว  ดังนั้น CPU ที่มีจำนวน Thread มากกว่า จึงสามารถปั่นคะแนน Benchmark ที่เป็นแนว Rendering ดีกว่าอยู่แล้วครับ….

 

x264 FHD Benchmark 64-Bit

มาดูกันต่อกับ X264 FHD Benchmark กันต่อเลย สามารถปั่นเฟรมได้ค่อนข้างดีเลยในช่วงที่ Encoding โดยที่เดิมๆ ทำได้ 62.04fps และเมื่อ OC @ 4.5Ghz ปั่นเฟรมในช่วง Encoding ได้ถึง 77.7fps กันเลยทีเดียว ดังนั้นใครทำงานด้าน Encoding อยู่ งานของคุณจะเสร็จอย่างรวดเร็วแน่นอน

 

FryRender x64

ดูกันต่อกับ FryRender บอกได้เลยว่าหัวเยอะๆ ก็คงได้เปรียบอยู่เหมือนเดิม กับเวลาที่รวดเร็วในการ Render  ลองสังเกตุดูตอน OC @ 4.5Ghz ซิครับ… ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที โอว์แม่จ้าว…จะแรงไปไหน ^O^

 

Vray benchmark

ต่อกันเลยกับ Vray Benchmark ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า เดิมๆ ก็แรงอยู่แล้ว เพราะใช้เวลาในการ Render ไม่ถึง 1 นาทีอยู่แล้วครับ และหลังจาก OC @ 4.5Ghz แล้ว ใช้เวลา Render เหลือเพียง 36 วินาทีเท่านั้นเอง และเทียบกับ 8700K 6C/12T แล้วต้องใช้เวลาถึง 1 นาที 30 วินาทีกันเลยทีเดียว

 

ROG Realbench V2.56

ส่วนทางด้าน Realbench V2.56 นั้นเจ้า i9-7940X 14C/28T ตัวนี้ก็ยังคงทำคะแนนรวมได้ดีกว่า CPU ทุกๆ รุ่นในการทดสอบนี้ โดยเฉพาะคะแนนในช่วง Encoding และ Heavy Multitasking นั้นเป็นงานที่เขาถนัดมากๆ

 

Geekbench 4.2.2 64-Bit

ต่อกันเลยกับ Geekbench 4 ที่ยังคงทำคะแนนในด้าน Multi-Thread ได้ดีเยี่ยม ส่วนแบบ Single Thread นั้นอาจจะไม่เด่นนักเพราะ Ghz ไม่สูงแบบ CPU รุ่นเล็กนั่นเอง จึงต้องอาศัยการ Overclock ช่วยถึงจะได้คะแนน Single Thread ที่ดีขึ้นครับ

 

PCMARK 10

ส่วนคะแนนจากโปรแกรม PCMARK 10 รุ่นล่าสุดนั้นก็ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในการทดสอบเทียบกับ CPU รุ่นอื่นๆ  และดูเหมือนว่า Intel จะได้เปรียบในการทดสอบนี้อย่างมาก เพราะเทียบจาก RYZEN 7 1800X แล้วดูเหมือนจะปั่นคะแนนไม่ออก ถึงแม้ว่าจะเป็น CPU 8C/16T ก็ตาม  โดยรวมแล้วผมมองว่าโปรแกรมนี้ เน้น Ghz ความเร็วของ CPU เป็นหลักด้วยถึงจะได้แต้มออกมาเยอะ….

 

3DMARK Fire Strike

ต่อกันเลยกับ 3DMARK Fire Strike ซึ่ง CPU ที่มีจำนวนคอร์เยอะกว่า ก็จะให้แต้มคะแนนรวมที่สูงกว่าอยู่แล้วครับ ดังนั้น i9-7940X 14C/28T จึงได้เปรียบอย่างมาก รวมถึงคะแนนเฉพาะ Graphics Test ก็ทำออกมาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว….

 

3DMARK Time Spy

 

3DMARK Time Spy Extreme

ส่วนทางด้าน 3DMARK Time Spy และ Time Spy Extreme นั้นเจ้า CPU รุ่นใหญ่อย่าง Intel Core i9-7940X 14C/28T ตัวนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ดีกว่า CPU รุ่นอื่นๆ แบบชัดเจน เพราะอ้างอิงจากคะแนน Multi-Thread ในช่วง CPU Test ค่อนข้างเยอะด้วย ดังนั้นเจ้า i9-7940X จึงปั่นคะแนนออกมาได้ดีที่สุดครับ เยี่ยมไปเลย….

 

Battlefield 1

มาต่อกันเลยกับความสามารถในการเล่นเกมหรือการปั่น fps. ของเกมด้วยกราฟิกการ์ดที่เราเลือกใช้ในครั้งนี้คือ ROG STRIX GTX 1070 Ti Advance 8GB ซึ่งมาดูกันเลยผลการทดสอบค่าเฟรมเรทเฉลี่ย Average ของเกม Battlefield 1 นั้นเจ้า i9-7940X 14C/28T นั้นความเร็วเดิมๆ ปั่นเฟรมเฉลี่ยได้ที่ 137.41 fps และช่วงที่ OC @ 4.5Ghz ปั่นเฟรมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาได้อีกไม่เยอะมากครับ ที่เฟรมเฉลี่ย 139.28fps. แต่ทั้งหมดโดยรวมเทียบกับ CPU รุ่นอื่นๆ แล้วอย่างเช่น i7-7700K และ i7-8700K แล้วเฟรมก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมาก ที่ช่วง 139-140fps เฉลี่ยครับ รวมๆ แล้วเกมนี้น่าจะเน้นที่ Ghz สูงๆ เป็นหลักมากกว่าจำนวน Core ครับ

 

DEUS EX

ส่วนทางด้านเกม DEUS EX นั้นกลับเป็นว่าเจ้า i9-7940X แบบเดิมๆ และ OC แล้วนั้นให้ผลการทดสอบไม่ได้ต่างอะไรกันมาก โดยเกมนี้ผมว่าไม่มี CPU รุ่นไหนในกราฟนี้คอร์ขวดเลยสักตัว น่าจะสุดที่ตัวกราฟิกการืดแล้วมากกว่า  เพราะเฟรมเรททั้งหมดของ CPU แต่ละรุ่นทำได้ประมาณ 69fps เฉลี่ยกันทั้งหมดครับ  สรุปแล้ว Engine ของเกม มีผลต่อการปั่น fps. ของ CPU อย่างชัดเจน

 

Tom Clancy’s The Division

เกมต่อมาเลยกับ The Division ซึ่งจัดว่าเป็นอีกหนึ่ง Game Benchmark ที่ค่อนข้างนิ่งมากๆ ผลการทดสอบจะไม่ค่อยเพี้ยนมากนัก แต่กลับเป็นว่า CPU ที่มีหัวเยอะๆ อย่าง i9-7940X 14C/28T นั้นไม่สามารถปั่นเฟรมเรทของเกมได้ดีเท่าไรนักครับ และที่ทำได้ดีที่สุดเลยกลับเป็น AMD RYZEN 7 1800X เสียด้วยซ้ำครับ

 

Tom Clancy’s Ghost Recon Wildland

มาต่อกันเลยกับ Ghost Recon Wildlands นั้นดีที่สุดในกราฟแผ่นนี้คือ i7-7700K ครับ ส่วน i9-7940X นั้นผมมองว่าทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ซึ่งเป็น Scale เดียวกับ The Division เลยล่ะครับ คาดว่าเกมค่ายนี้น่าจะไม่ถูกกับ CPU ที่มีหัวเยอะๆ ถึง 28 Threads ครับ

 

Far Cry Primal

ส่วนทางด้าน Fay Cry Primal นั้นผลการทดสอบช่วง Overclock 4.5Ghz แล้วทำให้เจ้า i9-7940X ตัวนี้ปั่นเฟรมเรทออกมาได้พอๆ กับ i7-7700K และ i7-8700K ที่เฟรมเรทเฉลี่ย 101fps. สรปแล้วเกมนี้ผมมองว่าน่าจะเน้นที่ Ghz ของ CPU เป็นหลักมากกว่าจำนวนคอร์ครับ

 

Far Cry 5

ต่อกันเลยกับ Far Cry 5 Benchmark ตัวล่าสุด พบว่าการเล่นเกมของเจ้า i9-7940X นั้นก็อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้เด่นอะไรมากนักเหมือนเดิมครับ ถือถ้า OC แล้วเฟรมเรทก็จะหยับเพิ่มตามลำดับ ดังนั้นสรุปแล้วความเร็วของ Ghz CPU นั้นมีผลมากที่สุดในหลายๆ เกม

 

Rise of Tomb Raider

ส่วนเกม Rise of Tomb Raider นั้น CPU ของฝั่ง Intel ก็ทำการปั่นเฟรมเรทเฉลี่ยออกมาได้ราวๆ 117-118fps พอๆ กันทั้งหมด ส่วนทาง RYZEN 7 1800X นั้นทำได้ที่ 114.84fps. คงต้องเอาไว้รอดูผลเทียบเพิ่มเติมของ RYZEN 7 2700X เร็วๆ นี้ครับ ^^”

 

PUBG

     และเกมสุดท้ายที่เราหยิบเอามาทดสอบในครั้งนี้ก็คือ PUBG นั่นเองครับ ซึ่งเราจะรันจาก Replay ในฉากเดิมของเกมแล้วจับผลการทดสอบด้วย Fraps. เพื่อหาค่าเฉลี่ยในเกม ซึ่งก็พบว่า CPU ที่มี Ghz สูงๆ อย่าง i7-8700K ที่มีช่วง Boost สูงสุด 4.7Ghz นั้นสามารถปั่นเฟรมเรทได้ดีมากเลยทีเดียวครับ ส่วนเจ้า i9-7940X นั้นทำได้ในระดับ 104.59fps และช่วง OC @ 4.5Ghz เฟรมเรทเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาที่ 111.075fps หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 6.4fps เฉลี่ยนั่นเอง สรุปโดยรวมแล้ว เกม PUBG เน้น CPU ที่มีความเร็วในการสูงๆ เป็นหลักครับ ดังนั้น Clock Speed แรงเท่าไรก็ยิ่งแรงเท่านั้น….

     สรุปสั้นๆ ตรงนี้เลยเกี่ยวกับผลการทดสอบทางด้าน Gaming ว่าอย่าคิดเอา CPU หัวเยอะๆ ไปประกอบเพื่อเล่นเกมเป็นหลักครับ เพราะผลการทดสอบทั้งหมดนี้ทำให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า CPU ระดับ 14Core 28 Thread นั้นไม่ได้ช่วยให้เล่นเกมได้ดีกว่า i7-7700K หรือ i7-8700K เลยแม้แต่น้อย นอกจากว่าคุณจะทำงานอย่างอื่นไปพร้อมกันๆ หรือการ Streaming ไปด้วย อันนี้ผมมองว่าการเลือกใช้ CPU ที่มีคอร์เยอะๆ จะมีค่าขึ้นมาโดยทันทีครับ…

 

NVIDIA Geforce GTX 1070 Ti SLI Performance

และแถมให้กับผลการทดสอบด้วยระบบ Multi-GPU ร่วมกับกราฟิกการ์ดจากค่าย NVIDIA Geforce GTX1070 Ti SLI แบบ 2-Way ที่ประกอบไปด้วยการ์ดรุ่น STRIX GTX1070 Ti Advance 8GB และ ASUS CEBERUS GTX1070 Ti OC 8GB ร่วมกับ CPU Intel Core i9-7940X Overclock @ 4.5Ghz/Cache 3.0 + DDR4-4000Mhz CL17-18-18-41 1T Quad-Channel ที่เป็น Config เดียวกับรีวิวฉบับนี้ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ไปชมผลการทดสอบทั้ง 8 เกมกันเลยครับ ^^”

 

SLI Enable

     ตัวอย่างการเปิดใช้งาน NVIDIA SLI ถ้าหากการ์ดสามารถรับระบบ SLI ได้อยู่แล้ว หลังจากลง Driver มากจะเปิด SLI ให้อยู่แล้ว  หากว่าไม่ได้เปิดใช้งาน ให้กลับเข้าไปเช็คที่ NVIDIA Control Panel แล้วเข้าไปดูในหัวข้อ Configure SLI, Surround, PhysX มองที่หัวข้อ SLI แล้วเลือก Maximize 3D Performance เพียงแค่นี้การทำงานแบบ SLI ก็จะสามารถใช้งานได้แล้วครับ

 

SLI Performance in 8 Games

      จากภาพรวมแล้วเกรมที่รับระบบ Multi-GPU SLI ได้ดีที่สุดเลยก็คือเกม Rise of tomb Raider Benchmark ซึ่งมี Scale ของเฟรมเรทที่สูงมากเป็นพิเศษจาก 118.02fps ขึ้นเป็น 206.82fps กันเลยทีเดียวครับ สรุปแล้ว SLI บน Platform นี้กับเกมที่ใช่นั้นมันสุดยอดจริงๆ ครับ…. ส่วนอีกเกมที่เห็นผลได้ชัดเจนเลยก็คือ Battlefield 1 นั้นจากการ์ดเดียวๆ ทำได้ 139.28fps และหลังเปิด SLI แล้วเฟรมพุ่งขึ้นถึง 197.51fps กันเลยเดียว เกือบจะสุดของเกมนี้แล้วก็ว่าได้ เพราะมัน Max อยู่ที่ 200fps. จัดว่ารีดแทบจะหมดคอขวดแล้วก็ว่าได้ แรงไม่แรงตอนนี้ขึ้นอยู่กับระบบกราฟิกการ์ดไปแล้ว !!!

      ส่วนเกมอื่นๆ ที่น่าสนใจก็คือ Far Cry 5 นั้นทำเฟรมเพิ่มได้ดีจาก 105fps ขึ้นมาเป็น 133fps ก็จัดว่ามากแล้วสำหรับเกมนี้, Wildland ได้เฟรมเพิ่มจาก 55.51fps ขึ้นมาเป็น 77.18fps จัดว่าเกมนนี้ค่อนข้างกินทรัพยากรร์เครื่องเปลี่ยนอย่างมาก นี่ขนาดว่าเล่นแค่ Full HD นะครับ เฟรมยังไม่เห็นหลัก 100fps เลย… ส่วนอีกเกม DEUS EX นั้นก็ปั่นเฟรมเรทหลังต่อ SLI ได้จาก 70fps ขึ้นมาเป็น 100.5fps และในส่วนเกมอื่นๆ อย่าง PUBG และเกมอื่นๆ นั้นดูเหมือนจะไม่รองรับระบบ Multi-GPU อยู่แล้ว จึงทำให้ผลการทดสอบนั้นไม่มีอะไรต่างกันกับการเล่นแบบ Single Card และยางเกมยังให้ผลการทดสอบที่แย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ…. ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกนะครับ ที่จะมีทั้งเกมที่เขียนมารับ และไม่รองรับระบบ Multi-GPU มันก็เช่นเดียวกับเกมที่เขียนมาให้ CPU หลายๆ คอร์สามารถเข้าไปช่วยประมวลผลได้และไม่บางเกมก็ไม่ชอบ CPU ที่มีคอร์เยอะๆ ก็มีอยู่มใากมายครับ ดังนั้นก็ศึกษาข้อมูลดูกันดีๆ ก่อนที่จะซื้อ Hardware   อย่างไรแล้วก็ลองพิจารณาดูจากผลการทดสอบของเราทั้งหมดนี้ดูอีกทีละกันครับ ^^”

 

3DMARK Sky Diver

และทิ้งท้ายกันด้วยผลการทดสอบ Benchmark ต่างๆ ตรงนี้กันเลยกับ 3DMARK Sky Diver, 3DMARK Fire Strike และ 3DMARK Time Spy ครับ…

 

3DMARK Fire Strike

 

3DMARK Time Spy

 

3DMARK Time Spy Extreme

 

Conclusion.

     เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับผลการทดสอบความแรงของ CPU ตัวแรงจากค่าย Intel Core i9-7940X ที่มีจำนวนคอร์ประมวลผลทั้งหมด 14 คอร์ และยังมาพร้อมกับ Hyper Threading Technology ที่ช่วยให้เหมือนแต่ละคอร์มีคอร์เสมือนเพิ่มขึ้นมา จึงทำให้ OS มองเห็นมันเป็น CPU แบบ 14Core /28Thread กันเลยทีเดียว… และสำหรับจุดเด่นของ CPU รุ่นนี้เลยก็คือความสามารถในการทดสอบทางด้านงานแบบ Multi-Thread อย่างเช่นงานด้าน Rendering, Encoding นั้นโดดเด่นอย่างชัดเจน จึงช่วยลดระยะเวลาในการ Rendering/Encoding งานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว   ดังนั้นใครเอาไปทำงานตัดต่อหรือเรนเดอร์ที่ต้องการใช้ CPU แบบโหดๆ แนะนำเลยว่าหัวยิ่งเยอะยิ่งทำงานเสร็จเร็ว…

     ส่วนทางด้านการเล่นเกมนั้น อย่างที่ผมกล่าวไว้แต่ช่วงแรกๆ ของรีวิวฉบับนี้เลยว่า การเลือก CPU นั้นสำคัญมาก ว่าคุณจะเอาไปทำงานด้านไหน หากเอาไปทำงานด้าน Rendering/Encoding หรืองานที่ต้องการทำ Workload หลายอย่างไปพร้อมๆ กันนั้น การเลือก CPU ที่มีคอร์เยอะๆ จะตอบโจทย์แก่เราได้แบบชัดเจน เพราะงานด้านนี้มีคอร์ CPU มากเท่าไรก็ยิ่งทำงานเสร็จเร็วเท่านั้นครับ….

     และถ้าเอา i9-7940X ตัวนี้ไปเล่นเกมนั้น… ก็จะได้ผลอย่างทีผมได้กล่าวไว้ คือเล่นได้นะ… แต่ก็ไม่ได้เด่นอะไรมากนัก… เมื่อเทียบกับ i7-7700K หรือ i7-8700K แล้วมันยังทำหน้าที่ได้ดีกว่า i9-7940X เลยด้วยซ้ำ… ด้วยเพราะว่าในหลายๆ เกมยังคงต้องการใช้ความเร็วในการประมวลผลของ CPU เป็นหลักอยู่เหมือนเดิม…. ดังนั้น i7-7700K หรือ i7-8700K มีความเร็ว Boost ที่สูงกว่า i9-7940X เยอะ…. มันจึงเล่นเกมได้ดีกว่าเป็นเรื่องธรรมดาครับ และกับเกมบางเกมเขาก็ไม่ได้เขียนมาให้ CPU หลายๆ คอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก…  สรุปแล้ว ถ้าเอาไปทำงาน หรือเอาไป Video game live streaming แล้วผมมองว่า CPU i9-7940X ตัวนี้จะดูมีความคุ้มค่า มากกว่าการเอาไปเล่นเกมเพียงอย่างเดียว….

     ในด้านผลการทดสอบด้านความร้อนและอัตราการบริโภคพลังงานของ Intel Core i9-7940X นั้นถ้าไม่ได้ทำการ Overclock ใดๆ ก็จัดว่ามีอุณหภูมิไม่ได้ร้อนอะไรมากครับ โดยช่วง Full Load นั้นอยู่ราวๆ 70c องศาเซลเซียสเท่านั้นสำหรับความเร็ว CPU แบบเดิมๆ ที่ระบายความร้อนด้วยชุดน้ำ AIO TT Floe Riing 360 RGB ซึ่งสามารถระบายความร้อนได้สบายๆ ครับ แต่หากมีการ Overclock ในระดับ 4.4-4.5Ghz+ ขึ้นไปนั้นบอกได้เลยว่า ถ้าเราทดสอบโปรแกรม Burn-In ด้วยชุดคำสั่ง AVX ร้อนระอุมากเลยทีเดียว มีเห็น 95-100c ได้เลยล่ะครับ เอาไม่อยู่จริงๆ สำหรับ AIO ชุดนี้…. ส่วนทางด้านอัตราการบริโภคพลังงานก็เช่นกันครับ ถ้าไม่ OC อะไรเลยก็ Full Load จะอยู่ที่ประมาณ 429Watt เท่านั้น แต่หลังจาก OC @ 4.5Ghz/Cache 3.0Ghz แล้วพบว่าช่วงที่ CPU Full Load นั้นกินไฟมากถึง 770Watt ขึ้นไปเลยทีเดียวครับ   ดังนั้นก็คงต้องจัดหา PSU ดีๆ ไว้รับมือสักลูกหนึ่งจะดีมาก โดยผมแนะนำว่าควรมี 1000-1200Watt เต็มเผื่อไว้กำลังดีครับ…  หรือถ้าใครไม่คิดจะ OC เลยก็หา PSU ขนาด 850Watt เต็มๆ ก็น่าจะเพียงพออยู่ครับ  ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นผมแนะนำว่าลองทบทวนดูจากผลการทดสอบทั้งหมดของเราดูอีกครั้งว่าเจ้า CPU Intel Core i9-7940X 14C/28T L3 ขนาด 19.22MB ตัวนี้คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ? ลองพิจารณาดูกันเลย สวัสดีครับ ^^”

 

Special Thanks

INTEL THAILAND