AMD RYZEN 7 2700X & RYZEN 5 2600X Processors Review

สวัสดีครับ วันนี้ก็มาถึงคิวรีวิวของเจ้า CPU AMD RYZEN 7 2700X และ RYZEN 5 2600X สักที… หลังจากดองผลเทสไว้อย่างนาน… ฮ่าๆ เอาล่ะครับ วันนี้ก็จะถือโอกาสในการนำเสนอเจ้า CPU ทั้ง 2 รุ่นใหม่ล่าสุดจากทาง AMD ตัวนี้กันเลยครับ

สำหรับรายละเอียดของตัว CPU รุ่นใหม่ของทาง AMD ใน Code Name “Pinnacle Ridge” นั้นถือว่าเป็น CPU Desktop ตัวแรกของ AMD ที่ได้ทำการลดดระบวนการผลิตของ Die ให้เล็กลงจากเดิมในตระกูล Summit Ridge 14nm. (ZEN) มาเป็น Pinnacle Ridge ในขนาด 12nm. (ZEN+) โดยที่โครงสร้างพื้นฐานของ CPU นั้นยังคงเหมือนกับทาง RYZEN Gen1 แทบทุกประการ เพียงแต่ว่ากระลดกระบวนการผลิตลงมาเหลือที่ 12nm. นั้นมันช่วยให้ CPU AMD RYZEN สามารถเร่งความเร็วของสัญญาณนาฬิกา Base/XFR Boost นั้นจะมีค่าที่สูงขึ้น ดังนั้นเจ้า Pinnacle Ridge จึงสามารถทำงานเร่งความเร็วในช่วง XFR2.0 (extended frequency range) ได้สูงขึ้นกว่าใน Summit Ridge 14nm. อยู่พอสมควรเลยทีเดียว อย่างเช่น RYZEN 7 2700X นั้นจะมีค่า Clock Base/XFR2.0 @ 3.7/4.3Ghz เมื่อเทียบกับ RYZEN 7 1800X นั้นจะอยู่ที่ 3.6/4.1Ghz เท่านั้น

Tech Spec.

CPU RYZEN 7 1800X RYZEN 7 2700X RYZEN 5 1600X RYZEN 5 2600X
Codename Summit Ridge Pinnacle Rigde Summit Ridge Pinnacle Rigde
Cores/Threads 8C/16T 8C/16T 6C/12T 6C/12T
L3 Cache 16MB 16MB 16MB 16MB
Clock Base / XFR 3.6 / 4.1 Ghz
(XFR 1.0)
3.7 / 4.3 Ghz
(XFR 2.0)
3.6 / 4.0Ghz
(XFR 1.0)
3.6 / 4.2Ghz
(XFR 2.0)
Manufacturing Process 14nm. 12nm. 14nm. 12nm.
TDP 95W 105W 95W 95W
Memory Support 64GB 64GB 64GB 64GB
Memory Speed (Native) DDR4-2666Mhz DDR4-2933Mhz DDR4-2666Mhz DDR4-2933Mhz
Socket AM4 (1331) AM4 (1331)
AM4 (1331) AM4 (1331)
Chipset AMD 300/400Series AMD 300/400Series AMD 300/400Series AMD 300/400Series

เอาล่ะครับมาชมถึงรายละเอียดทางเทคนิคของ CPU ทั้ง 2 รุ่นกันเลยดีกว่าครับ เริ่มจากเจ้า AMD RYZEN 7 2700X ที่เป็น CPU แบบ 8C/16T ที่มาพร้อม Cache L3 ขนาดใหญ่ถึง 16MB ความเร็วพื้นฐานอยู่ที่ 3.7Ghz และสามารถเร่งความเร็วขึ้นไปได้สูงสุดด้วยเทคโนโลยี XFR (extended frequency range) ได้ถึง 4.3Ghz กันเลยทีเดียวโดยจะเป็น XFR2.0 ที่สามารถ Boost ได้ไกลกว่า XFR1.0 ที่อยู่บน RYZEN 7 1800X เนื่องด้วยที่ว่า RYZEN 7 2700X นั้นผลิตขึ้นด้วยกระบวนการ 12nm. ที่เล็กกว่า จึงสามารถที่จะเร่งความเร็วในช่วง XFR2.0 ได้ไกลขึ้นในระดับ 4.0Ghz – 4.35Ghz สูงสุด เมื่อระบบระบายความร้อนเย็นพอครับ

ส่วนเจ้า AMD RYZEN 5 2600X นั้นก็จะเป็น CPU แบบ 6T/12T มีขนาดของ L3 Cache ที่ 16MB เช่นเดียวกับ RYZEN 7 2700X ต่างกันที่จำนวนของ Core/Thread ในการทำงานเท่านั้น ส่วนความเร็วในการทำงานอยู่ที่ Clock Base/XFR2.0 @ 3.6/4.2Ghz ต่างจากในรุ่น RYZEN 5 1600X ที่มีความเร็วในการทำงานอยู่ที่ 3.6/4.1Ghz เท่านั้น

สรุปกันตรงนี้แบบคร่าวๆ เลยก็คือ AMD RYZEN 7 2700X และ RYZEN 5 2600X ที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการ 12nm. นั้นช่วยให้มันสามารถเพิ่มความเร็วของสัญญาณนาฬิกาได้สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่าง RYZEN 7 1800X และ RYZEN 5 1600X กล่าวคือสามารถ Overclock ได้ในระดับ 4.0Ghz ถึง 4.1Ghz++ ได้ง่ายขึ้นอย่างมาก รวมถึงความร้อนก็ไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวนอะไรมาก….

 

และนี่ก็คือหน้าตาของกล่อง Package ที่เป็นแบบ Box Set ที่ทาง AMD เตรียมไว้สำหรับให้ Media รีวิวครับ ซึ่งจะมากับกล่องใบใหญ่ที่ด้านในบรรจุ CPU ไว้ทั้ง 2 รุ่น ได่แค่ AMD RYZEN 7 2700X และ RYZEN 5 2600X

 

และนี่ก็คือภาพของ Die ด้านในแกนของ CPU AMD RYZEN 5 และ 7 ซึ่งจะใช้ Die เดียวกัน ต่างแค่ว่ารุ่นไหนจะเปิด/ปิดการทำงานของ CCX Unit ให้แก่ CPU เป็นรุ่นไหนๆ ก็ว่ากันไป ส่วนสถาปัตยกรรมทั้งหมดนั้นเจ้า Pinnacle Ridge นั้นจะยังคงยืนพื้นแบบเดิมที่อยู่บน Summit Ridge หรือสถาปัตยกรรม ZEN นั่นเอง ต่างกันเพียงแค่การลดประบนกวนผลิตของ Die ให้เล็กลงจาก 14nm. เป็น 12nm. เพื่อที่จะช่วยให้ตัว CPU สามารถเพิ่มสัญญาณได้สูงขึ้นในระดับ 4.0-4.3Ghz+ ได้ง่ายขึ้น

 

นี่คือหน้าจอของ Task Manager ของ CPU AMD RYZEN 7 2700X โดยที่ตัว OS Windows Pro 10-64bit นั้นจะมองเห็นว่ามี CPU อยู่ทั้งหมด 16 Threads

นี่คือหน้าตาของกล่อง CPU AMD RYZEN 5 2600X และ RYZEN 7 2700X ซึ่งภายในกล่องนั้นก็จะมีการแถมชุด CPU Cooler ที่ต่างกันออกไปด้วย โดยที่รุ่นใหญ่อย่าง AMD RYZEN 7 2700X จะแถม CPU Cooler ในรุ่น AMD Wraith Prism Cooler โดยที่ตัวพัดลมจะมีวงแหวน LED แบบ RGB Color ที่สามารถ Sync แสงสีเข้ากับเมนบอร์ดที่รองรับได้อย่างเช่น ASROCK RGB LED, ASUS AURA Sync, BIOSTAR VIVID LED DJ, GIGABYTE RGB Fusion และ MSI Mystic Light Sync

 

AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T

และนี่ก็คือของที่อยู่ภายในกล่องของ CPU AMD RYZEN 7 2700X ที่จะมาพร้อมกับชุดระบายความร้อนในรุ่น AMD Wraith Prism Cooler with Per-RGB LED Control

     และนี่ก็คือตัว CPU AMD RYZEN 7 2700X “YD270XBGM88AF” ซึ่งเป็น CPU แบบ 8Core/16Thread มาพร้อมกับ L3 Cache ขนาด 16MB โดยด้านในตัวของ CPU มีจะมีชุด CPU Complex หรือ CCX โดยแต่ละ CCX นั้นจะประกอบไปด้วย CPU จำนวน 4 คอร์   ดังนั้น CPU AMD RYZEN 7 2700X ตัวนี้จึงมีทั้งหมด 2 CCX รวมเป็นทั้งหมด 8 Core และมีเทคโนโลยีจำลองคอร์เสมือนจริง SMT (Simultaneous Multithreading) จึงทำให้ CPU แต่ละคอร์มีคอร์แบบเสมือนที่ทำงานได้จริงบน OS แบบ 8Core/16Thread นั่นเอง  ส่วนความเร็วของ CPU นั้นมีค่า Clock Base และ XFR2.0 Boost อยู่ที่ระดับ 3.7Ghz/4.3Ghz และถ้าหากเย็นพอก็จะเห็นความเร็วสูงสุดที่ XFR2.0 ทำได้คือที่ระดับ 4.35Ghz กันเลยทีเดียว ส่วนราคาค่าตัวนั้นอยู่ที่ประมาณ 12,000.- บาทเท่านั้นเอง

     ความสามารถด้านการ Overclock นั้นก็ทำได้แบบจัดเต็ม Unlocked ทั้งในส่วนของตัวคูณของ CPU, Bclk และอัตราทด RAM ซึ่งปัจจุบันสามารถปรับอัตราทดได้ถึงในระดับ 3466Mhz ไปจนถึง DDR4-4000Mhz ได้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า BIOS ของเมนบอร์ดรุ่นนั้นๆ ออกแบบมาให้บูทแรมได้จริงๆ กันเท่าไร… (เท่าที่ลองเล่น เมนบอร์ดบางรุ่น สามารถบูทแรมได้ในระดับ DDR4-3600Mhz ถึง DDR4-3800Mhz ได้แล้ว แต่จะนิ่งหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) ส่วนค่า Native ของ RYZEN 2000 Series นั้นจะขยับจาก 2666Mhz ขึ้นมาในระดับ DDR4-2933Mhz ได้แล้วครับ และยังสามารถทำงานร่วมกับแรม DDR4-3200Mhz ได้ง่ายขึ้นมากอีกด้วย….  และการ Overclock แบบจัดเต็มนั้นต้องทำงานร่วมกับเมนบอร์ด AMD B350/B450 หรือ X370/X470 Chipset เท่านั้นครับ ก็เลือกยี่ห้อที่คุณชอบเอาได้เลย….

 

นี่คือชุดระบายความร้อน AMD Wraith Prism Cooler ที่ติดมาพร้อมกับ RYZEN 7 2700X ซึ่งจะมาพร้อมกับชุดสาย RGB LED Contoller ถึง 2 แบบด้วยกัน ได้แก่แบบ USB Header และแบบ RGB Strip 4-Pin

 

ตัว Heatsink นั้นค่อนข้างใหญ่อลังการมากเลยทีเดียว โดยเลือกใช้ท่อ Heatpipe นำความร้อนทั้งหมด 4 เส้น แบบสัมผัสกับตัว CPU โดยตรง

 

ดูกันชุดๆ อีกหนึ่งภาพสำหรับการต่อท่อ Heatpipe ทั้ง 4 เส้นที่สัมผัสตรงกับกระดอง CPU + ฐานทองแดง ส่วนครีบระบายความร้อนด้านบนนั้นก็ทำจากอลูมิเนียม โดยเนื้องานโดยรวมแล้วทำออกมาได้ค่อนข้างดีครับ

 

AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T

ต่อกันเลยกับ CPU AMD RYZEN 5 2600X ที่มาพร้อมกับจำนวนแกนประมวผล 6Core/12Thread ในราคาเพียงตัวละ 8,000.- บาทโดยประมาณเท่านั้น !!! จัดว่าเป็นราคาที่เร้าใจมากๆ เลยทีเดียว และยังมาพร้อมกับ L3 Cache 16MB ความเร็วในการทำงาน Clock base/XFR2.0 Boost @ 3.6GHz/4.2GHz  และสามารถ Overclock ได้แบบอิสระ ทั้งในส่วนของ CPU Multiple, Bclk และ Memory Ratio ส่วนตัว Heatsink ระบายคสวามร้อนที่แถมมานั้นคือรุ่น AMD Wraith Spire Cooler (No LED)

 

นี่คือหน้าตาของ CPU AMD RYZEN 5 2600X “YD260XBCM6IAF” Pinnacle Ridge 12nm. (Zen+) ติดตั้งร่วมกับเมนบอร์ด Socket AM4 1331-Pin

 

โดยเจ้า AMD RYZEN 5 2600X นั้นจะมาพร้อมกับชุดระบายความที่แถมมาคือ AMD Wraith Spire Cooler แบบไม่มีไฟ LED แสดงบริเวณที่ขอบของ Heatsink

 

บริเวณฐาน Base ด้านล่างจะเป็นแกนแบบทองแดง และใช้ครับระบาบความร้อนที่ทำจากอลูมิเนียม และไม่มีการใช้ท่อ Heatpipe ช่วยในการนำความร้อนแต่อย่างใด

 

บริเวณด้านหลังของ CPU พร้อมกับ Pin ขาทั้งหมด 1331 ขาที่ต้องต่อใช้งานกับเมนบอร์ด Socket AM4 ที่มาพร้อมกับชิปเซ็ต AMD 300/400 Series ได้เท่านั้น ส่วนถ้าจะ Overclock CPU ได้แบบจัดเต็มนั้นจำเป็นต้องต่อใช้งานร่วมกับเมนบอร์ดชิปเซ็ต AMD B350/B450, AMD X370/X470 ถึงจะรองรับการ Overclock ได้

 

ภาพบรรยากาศในการทดสอบในครั้งนี้ครับ

 

Hardware Spec.
 CPU
Intel Processors :
-Intel Core i7-7700K 4C/8T [Kabylake 14nm.]
-Intel Core i7-8700K 6C/12T [Coffeelake 14nm.]
-Intel Core i9-7940X 14C/28T [Skylake-X 14nm.]
AMD Processors :
-AMD RYZEN 7 1800X 8C/16T [Summit Ridge 14nm.]
-AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T [Pinnacle Ridge 12nm.]
-AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T [Pinnacle Ridge 12nm.]
 CPU Cooler  Thermaltake Floe Riing 360 RGB TT Premium Edition
 Motherboard
-GIGABYTE AORUS Z270X-GAMING 7 [Intel Z270]
-ASUS ROG MAXIMUS X APEX [Intel Z370]
-ASUS ROG RAMPAGE VI APEX [Intel X299]
ASUS ROG STRIX X470-F GAMING [AMD X470]
 Memory
-GALAX GOC DDR4-4400CL19 16GB-Kit (8GBx2) B-Die
-G.SKILL TridentZ DDR4-3200CL14 16GB-Kit (8GBx2) B-Die
 VGA -ASUS ROG STRIX GTX1070 Ti Advance 8GB
-ASUS CEBERUS GTX1070 Ti 8GB (For SLI Results)
 Hard Drive
 Apacer Phanter AS340 240GB x1 (OS Drive)
WD Blue 1TB x1 (Game Drive)
 PSU  Thermaltake ToughPower iRGB PLUS 1200 Watt
 OS  Windows 10 Pro 64 bit [Last Update] 1803 2018-5

 

AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T

นี่คือรายละเอียดของ AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T โดยครั้งนี้เราก็จะทดสอบร่วมกับ DDR4-3200Mhz CL14-14-14-34 1T แบบ Dual Channel ร่วมกับแรมจากค่าย G.Skill TridentZ DDR4-3200CL14 16GB-Kit

 

CPU-Z Benchmark

มาดูผลการทดสอบของโปรแกรม CPU-Z Benchmark กันสักเล็กน้อยครับ โดยคะแนน CPU Multi-Thread ทำได้ที่ 5015.2

 

AIDA64 Cache & Memory Benchmark

ส่วน AIDA64 Memory Bandwidth นั้นค่า Read ทำออกมาได้ประมาณ 47K และค่า Latency 66.6ns จัดว่าไม่ใช้ได้เลยครับ

 


AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T

และนี่ก็คือรายละเอียดของชุด AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T กันบ้างครับ โดยเราก็จะทำการปรับแต่งแค่ความเร็ว Memory DDR4 ไปที่ความเร็ว DDR4-3200 CL14-14-14-34 เหมือนเดิม ส่วนความเร็วของ CPU นั้นจะไม่มีการปรับแต่งอะไรๆ ใดๆ โดยเราจะให้ทำงานตามความเร็ว XFR2.0

 

CPU-Z Benchmark

มาดูกันที่ CPU-Z Benchmark กันต่อครับ โดยเจ้า 2600X นั้นมีประสิทธิภาพในการทดสอบในส่วนของ CPU Multi-Thread ได้พอๆ กับ CPU Intel Core i7-8700K 6C/12T กันเลยครับที่ประมาณ 3700 แต้ม

 

AIDA64 Cache & Memory Benchmark

และสำหรับ AIDA64 Memory Bandwidth นั้นก็มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับ RYZEN 7 2700X กันเลยทีเดียวที่ค่า Read อยู่ที่ประมาณ 47K และค่า Latency อยู่ที่ 66.7ns

 

ชุด System ทั้งหมดจะทดสอบในห้องแอร์อุณหภูมิ 24-25c องศาเซลเซียส ตลอดการทดสอบ โดยชุดระบายความร้อนของ CPU จะใช้ของ Thermaltake Floe Riing 360 RGB TT Premium กับ CPU ทุกรุ่น

 

CPU Temperature Test

และก่อนที่จะไปชมผลการทดสอบเรื่องประสิทธิภาพด้านต่างๆ นั้นเรามาดูเรื่องอุณหภูมิการทำงานของตัว CPU AMD RYZEN 7 2700X และ RYZEN 5 2600X กันสักนิดครับ  เริ่มกันที่รุ่น 2700X กันก่อนเลยกับกับช่วง Idle/Full Load อยู่ที่ระดับ 28c/85c องศาเซลเซียสในการทดสอบ  ส่วนในรุ่น 2600X นั้นอยู่ที่ Idle/Full Load @ 30c/66c องศาเซลเซียส สรุปรวมๆ แล้วการระบายความร้อนด้วยชุดน้ำแบบ AIO Cooling จากค่าย TT Floe Riing RGB 360 นั้นก็พอดับร้อน

 

RYZEN 7 2700X Temperature Test

: Idle/Full Load @ 28c/85c

 

RYZEN 7 2600X Temperature Test

: Idle/Full Load @ 30c/66c

 


Power Consumption.

มาดูกันต่อในเรื่องของอัตราการบริโภคพลังงานกันบ้างครับ โดยที่ตัว CPU AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T นั้นมีช่อง Idle/Full Load อยู่ที่ 76.7/255Watt Peak สูงสุด ถือว่ากินไฟไม่เยอะเลยสำหรับ CPU 8 Core / 16Thread ในยุคนี้ ส่วนเจ้า RYZEN 5 2600X 6C/12T นั้นกินไฟ Idle/Full Load อยู่ที่ 61.9/207Watt Peak ซึ่งผมองเทียบกับ RYZEN 7 1800X 8C/16T แล้วดูกินไฟเลีเยงต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำ ผมก็แปลกใจเหมือนกันว่าเกินอะไรขึ้น  แต่ถ้าให้เดาคือ 2600X นั้นสามารถแช่ Core Clock ได้สูงกว่าในระดับ 3.85Ghz -4.0Ghz+ ในการทดสอบตอน AVX Burn-In จึงเป็นไปได้ที่จะกินไฟเยอะกว่าครับ ในขณะที่ RYZEN 7 1800X นั้นเจอ AVX เข้าไปลด Clock เหลือเพียง 3.6Ghz เท่านั้นในช่วง Full Load

 

เอาล่ะครับเราก็มาถึงช่วงเวลาของการเปรียบเทียบผลการทดสอบของ CPU AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T และ AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T ทั้ง 2 รุ่นนี้ดูก่อนว่าจะทำออกมาได้คุ้มค่ากับราคาอย่างที่เขาคุยกันหรือไม่ มาชมกันเลยครับ ซึ่งเราก็จะมี Base test ทดสอบชุดเดิมๆ ที่เราได้เคยทดสอบไปก่อนหน้านี้บน System หลักที่เลือกใช้ Hardware แบบเดียวกันกับ CPU ในรุ่น AMD RYZEN 7 1800X 8C/16T, Intel Core i7-7700K, Intel Core i7-8700K และ Intel Core i9-7940X 14C/28T

 

Benchmark :

Super Pi 32MB

     มาดูกันที่ Benchmark ตัวแรกกันเลยกับ Super Pi32MB Single Thread หัวเดียว ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า AMD อาจจะไม่ถนัด Super Pi เท่าไรนัก แต่ก็เอามาทดสอบให้ดูว่าปัจุบันแล้วทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งจากการทดสอบก็ทำให้เห็นว่า RYZEN 7 2700X และ RYZEN 5 2600X ที่มีความเร็วในการทำงานที่สูงกว่าด้วย XFR 2.0 จึงทำให้สามารถคำนวณ Pi 32MB ได้เร็วกว่า RYZEN 7 1800X แบบชัดเจน…. โดยเฉพาะ 2700X VS. 1800X นั้นเห็นผลต่างถึง 27.164 วินาทีกันเลยทีเดียว….. สรุปแล้ว Super Pi ก็ไวต่อความเร็วของ Ghz CPU เป็นหลักเหมือนเดิม…

 

AIDA64 Cache & Memory Bandwidth

มาดูกันต่อในเรื่องของ Memory Bandwidth กันบ้างครับ โดยชุดทดสอบของ CPU แต่ละ Set นั้นจะทำงานที่ความเร็วแรม DDR4 เท่ากันทั้งหมดที่ DDR4-3200CL14-14-14-34 1T และปล่อย Sub-Timing แบบ Auto ตามที่เมนบอร์ดปรับแต่งให้ โดยภาพรวมแล้วจัดว่าทาง AMD ปรับปรุงเรื่องของระบบ Memory Bandwidth มาได้ค่อนข้างดีเลย ซึ่งค่า Read นั้นทำได้ในระดับ 47K+ ได้พอๆ ไม่ว่าจะเป็น 2700X, 2600X และ 1800X ส่วนค่า Write และ Copy นั้นอาจจะไม่เก่งสู้ฝั่ง Intel ได้ ลองพิจารณาดูตามผลการทดสอบด้านบนนี้เลยครับ

 

AIDA64 Cache & Memory Latency

และในส่วนของเรื่อง Memory Latency นั้นจัดว่าเจ้า 2700X และ 2600X นั้นปรับปรุงมาได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 1800X ที่ทำได้ในระดับ 70.6ns. เท่านั้น ส่วน 2700X และ 2600X นั้นทำได้ประมาณ 66.6-66.7ns. ถือว่าเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วกว่านั่นเอง… ถึงแม้จะใช้แรมความเร็วเดียวกันที่ระดับ DDR4-3200Mhz CL14 เท่ากัน

 

CPU-Z Benchmark

ในส่วนของโปรแกรม CPU-Z Benchmark นั้นเมื่อเทียบกันระหว่าง RYZEN 7 2700X และ RYZEN 7 1800X นั้นที่คะแนน Multi-Thread นั้นเห็นผลแบบชัดเจนเลยว่า 2700X นั้นทำคะแนนได้ดีกว่าในระดับ 5012.2 แต้ม ต่อคะแนน 4551.5 แต้มของ 1800X  ส่วนของ RYZEN 5 2600X นั้นก็จะไล่ๆ กับ i7-8700K อยู่ระดับหนึ่งครับ ซึ่งห่างกันไม่มากนัก  แต่ถ้าเทียบกับคะแนน Single Thread นั้นดูรวมๆ แล้วทาง Intel เหมือนประสิทธิภาพดีกว่า เนื่องด้วยสัญญาณนาฬิกาของ CPU นั้นมีสูงกว่าทาง AMD นั่นเอง

 

Cinebench R15.038 64-Bitส่วนโปรแกรม Cinebench R15 นั้นก็มี Scale คะแนนคล้ายๆ กับโปรแกรม CPU-Z Benchmark โดยเจ้า 2700X นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 1800X ก็เพราะว่าการลดกระบวนการผลิตเหลือ 12nm. นั้นช่วยให้ AMD เร่งความเร็วของ CPU ในช่วง XFR2.0 ได้ถึงระดับ 4.1-4.3Ghz ได้ง่ายกว่าเดิมนั่นเอง ส่วนทางด้าน 2600X นั้นก็ยังตามหลัง i7-8700K อยู่ระดับหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับราคาตัวละประมาณ 8,000 บาทนั้นก็ถือว่าคุ้มมากแล้วกับสิ่งที่ทำได้ เพราะ i7-8700K คุณต้องจ่ายประมาณ 12,200.- บาท (ซึ่งราคานี้ซื้อ RYZEN 7 2700X ได้เลยนะครับ น่าคิด ฮ่าๆ)

 

x264 FHD Benchmark 64bit

ต่อกันที่ x264 FHD Benchmark นั้นเจ้า 2700X นั้นทำผลงานได้น่าสนใจมากกับเฟรมเรทในการ Encode ได้ในระดับ 54.03fps กันเลยทีเดียว  ส่วน 2600X ก็ยังตามหลัง 8700K อยู่ระดับหนึ่งเหมือนเดิมครับ…

 

FryRender x64

ส่วนโปรแกรม FryRender x64 นั้นดูเหมือนจะเข้าทางฝั่ง Intel นะ ลองดู 8700K สิครับครับ ทำเวลาในการ Render ได้อยู่ระหว่าง 2700X และ 1800X ที่เป็น CPU แบบ 8C/16T ทั้ง 2 รุ่น แต่รวมๆ แล้ว 2700X ก็ยังได้เปรียบเรื่องประสิทธิภาพต่อราคาอยู่ดี  ส่วนเจ้า 2600X นั้นก็ไม่ค่อยเด่นอะไรมากนักครับ

 

Vray Benchmark

และสำหรับโปรแกรม Vray Benchmark นั้นก็ยังคงให้ Scale ใกล้เคียงกับโปรแกรม FryRender x64

 

Realbench V2.56

มาดูกันต่อที่โปรแกรม Realbench V2.56 ซึ่งจากผลการทดสอบแล้ว พบว่าคะแนนรวมเอาจริงๆ แล้วทาง Intel Core i7-8700K นั้นดูเหมือนจะได้เปรียบอยู่มิใช้มะน้อยเลย เมื่อเอามาเทียบกับ 2700X และ 2600X แล้วเหมือกับว่างานด้าน Image Edit นั้นทาง 8700K นั้นได้เปรียบอย่างมากครับ คะแนนรวมๆ เลยออกมาดีกว่า แต่ถ้ามองที่คะแนนในส่วนของ Encoding นั้น 2700X ก็จะทำได้เหนือชั้นกว่าทันที เพราะมีจำนวน Threads มากกว่านั่นเอง  ส่วนเจ้า 2600X นั้นก็ยังคงมี Scale ที่ไล่ๆ กับ 8700K อยู่เหมือนเดิมครับ

 

Geekbench V4.2.2 64bit

ต่อกันเลยกว่าโปรแกรมยอดนิยมอย่าง Geekbench 4.2.2 โดยจากการทดสอบดูแล้วพบว่า 2700X นั้นคะแนน Multi-Core ออกมาได้ค่อนข้างดีในระดับ 28532 แต้ม และเมื่อเทียบกับของเดิมอย่าง 1800X นั้นทำได้เพียง 25445 แต้มเท่านั้น  ส่วนเจ้า 2600X นั้นทำคะแนน Multi-Core ออกมาได้ที่ 23609 แต้ม

 

PCMARK 10และสำหรับ PCMARK 10 นั้นคะแนนโดยรวมของทาง AMD นั้นอาจจะไม่แรงสูงฝั่ง Intel สักเท่าไรนักครับ เดาว่าฝั่ง Intel ที่มี Ghz ที่สูงกว่านั้นได้เปรียบในเรื่องคะแนนการทดสอบต่างๆ ที่เน้นไปทาง 2D/Office เสียเยอะ จึงทำให้คะแนนด้าน Productivity นั้นค่อนข้างเด่นกว่าทาง AMD

 

3DMARK Fire Strike

สำหรับ 3DMARK Fire Strike นั้นดูเหมือนว่า 2600X จะมีคะแนนรวมๆ ออกมาได้ดีกว่า 2700X เสียด้ายซ้ำครับ ซึ่งผมก็เช็คผลทดสอบและเทสซ้ำดูหลายรอบแล้วก็ได้ผลออกมาตามนั้นเลยครับ อาจจะ Bug อะไรหรือป่าวนั้นก็ไม่แน่ใจครับ

 

3DMARK Time Spy

และกับ 3DMARK Time Spy นั้นผลการทดสอบกลับไม่ผิดปกติแต่อย่างใด โดยที่ 2700X นั้นกลับมานำทันทีเมื่อเทียบกับ 1800X และ 8700K โดยทุกอย่างก็เป็นไปตาม Scale ครับ

 

3DMARK Time Spy Extreme

     และยังมีผลการทดสอบเป็น Scale แบบเดิมครับครับ โดยที่ 2700X นั้นยังคงได้เปรียบเรื่องคะแนนรวม CPU Score เมื่อเทียบกับ 8700K เพราะว่ามันมีจำนวน Thread ที่มากกว่า ดังนั้น 2700X จึงมีคะแนนรวมที่ดีกว่านั่นเอง ส่วนถ้ามองแค่คะแนนของ Graphics Score นั้น CPU แถบทุกรุ่นมีประสิทธิภาพพอๆ กันหมด ด้วยคะแนนที่อยู่ในระดับ 3110-3160 แต้ม  มีเพียงแต่ 8700K เท่านั้นที่กระโดไปที่ระดับ 3632 แต้ม ซึ่งค่าว่าอาจจะเป็นเพราะตัวมันเองสามารถ Boost ได้มากถึง 4.7Ghz สูงสุด จึงทำให้สามารถปั่นเฟรมเรทในการทดสอบได้ดีกว่าเพื่อน….  สรุปผลการทดสอบโดยรวมแล้วความเร็วในการทำงานของ CPU นั้นยังเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ กันทดสอบโดยเฉพาะเรื่องของการทดสอบด้าน 2D และการปั่นเฟรมเรทในการทดสอบเกมต่างๆ ล้วนตอบสนองกับความเร็วของ CPU เป็นหลัก  ส่วนในเรื่องของการ Render/Encoding นั้นก็จะเป็นเรื่องของจำนวน Threads เป็นหลัก ซึ่ง CPU รุ่นไหนมีหัวหรือคอร์ที่เยอะกว่า ก็ทำงานได้เร็วกว่า เป็นเรื่องธรรมดาครับ…

 

ต่อกันเลยกับผลการทดสอบด้าน Gaming วัดใจกันเลยว่า CPU รุ่นไหน เล่นเกมจริงกับกราฟิกการ์ดในรุ่น STRIX GTX1070Ti Advance 8GB แล้วจะสามารถปั่นเฟรมเรทออกมาได้ดีแค่ไหนกัน พร้อมแล้วไปชมกันเลยครับ ^^”

 

Games Test :

Battlefield 1

เกมแรกกับ Battlefield 1 พบว่า 2600X นั้นทำเฟรมเรทเฉลี่ยออกมาได้ที่ 134.32fps และ 2700X ทำออกมาได้ที่ 133.3fps ก็ไล่ๆ กันอยู่ 1 เฟรม ก็ไม่ได้ต่างไรกันมากครับกับเกม BF1  แต่เมื่อเทียบกับฝั่ง Intel แล้วบอกเลยว่า CPU แบบเดิมๆ บี้กันแล้วเกมนี้ Intel ได้เปรียบครับ…

 

DEUS EX

ส่วนเกม DEUS EX ที่ใช้ API DirectX12 นั้นพบว่าการทดสอบเกมนี้จะชอบ Ghz CPU เยอะๆ เป็นหลักมากว่าจำนวน Thread แต่ดูรวมๆ แล้วเฟรมเรทก็มากองกันอยู่ที่ระดับ 69-70fps กันเลยหมด สรุปแล้วไม่ต่างอะไรกันเลยกับ CPU AMD และ Intel กับเกมนี้…

 

Tom Clancy’s The Division

และสำหรับ The Division ที่ทดสอบบน API DirectX12 นั้นดูเหมือนว่าทาง AMD RYZEN 7 2700X และ AMD 2600X นั้นมีผลการทดสอบที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว โดยทำเฟรมเรทเฉลี่ยออกมาได้ดีที่สุดในกลุ่มเพื่อนๆ

 

Tom Clancy’s Ghost Recon Wildland

ส่วนเกม Ghost Recon Wildland Benchmark ที่ขับเคลื่อนด้วย API DirectX 11 นั้นผลการทดสอบก็ดูเหมือน 2700X และ 2600X จะกลับมาอยู่ Scale เดิมคืออยู่กลางๆ กราฟทดสอบทั้งหมด แต่ถามว่าต่างกันมากไหมกับ CPU รุ่นอื่นๆ  บอกเลยว่าไม่มากมายอะไร… เพราะเฟรมที่ทำได้นั้นอยู่ที่ประมาณ  54-56fps ครับ

 

Far Cry Primal Benchmark

ต่อกันที่เกม Far Cry Primal Benchmark นั้นเจ้า 2700X และ 2600X นั้นทำเฟรมเฉลี่ยได้พอๆ กันเลยครับที่ 97 fps เฉลี่ย ส่วน 1800X นั้นทำได้ที่ 92fps.  และสำหรับ i9-79640X นั้นถ้าไม่มีการ OC ก็จะไม่ได้เด่นอะไรเลย

 

Far Cry 5 Benchmark

เกม Far Cry 5 Benchmark นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นอีกหนึ่งเกมที่ทาง Intel ได้เปรียบอยู่ราวๆ 3-5fps. เฉลี่ยครับ เพราะจากทรงการออกแบบเกมนี้แล้ว เน้นเรื่องของความเร็วของ Ghz ที่สูงๆ เป็นหลัก หัวเยอะๆ ไม่ค่อยช่วยอะไร จึงทำให้ฝั่ง AMD ไม่ได้เด่นอะไรมากนัก

 

Rise of Tomb Raider

จัดกันต่อเลยกับ Rise of Tomb Raider ที่ใช้ API DirectX12 ในการขับเกม ก็พบว่า 2600X กลับให้ผลการทดสอบที่ดูดีกว่า 2700X ซะงั้นครับ แปลกดีเหมือนกัน ไม่รู้ว่าภายใน CCX นั้นปั่นป่วนอะไรรึป่าว ขนาดว่า 1800X ยังทำได้ไม่ดีเท่า 2600X เลย…  ส่วนฝั่ง Intel นั้นก็ตาม Scale ครับคือถ้า CPU รุ่นไหนมี Ghz ที่สูงกว่าก็จะปั่นเฟรมเรทได้ดีกว่า โดยเด่นสุดในนี้คือ 8700K เพราะสามารถ Boost ความเร็วได้สูงสุดที่ 4.7Ghz กันเลยทีเดียว

 

PUBG

ทิ้งท้ายกันเลยครับกับเกม PUBG ที่ความละเอียดหน้าจอ 1080p + Ultra Preset โดยที่เจ้า 2700X นั้นจะทำเฟรมเฉลี่ยอยู่ที่ 101.35fps และเจ้า 2600X ทำได้ที่ 99.125fps ส่วนเจ้า 1800X นั้นทำได้น้อยสุดในตารางคือ 95.57 fps เฉลี่ย  จากการทดสอบของเกมนี้ ผมกำลังจะบอกว่าเกมนี้ Engine ไม่ได้ดีอะไรมากนัก เน้นพลังการประมวลผลต่อคอร์ของ CPU เสียค่อนข้างมาก ดังนั้น CPU รุ่นไหนมี Ghz ที่สูงกว่าก็ทำเฟรมเรทออกมาได้ดีกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ สรุปแล้ว ถ้า AMD ทำ CPU ที่มี Ghz ออกมาสูงๆ บี้ Intel ตอนนี้ได้ น่าจะมีอะไรสนุกๆ แน่นอน….

 

Conclusion.

     เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับภาพรวมของการทดสอบ CPU รุ่นใหม่จากค่าย AMD Pinnacle Ridge ในรุ่น RYZEN 7 2700X 8C/16T และ RYZEN 5 2600X 6C/12T  โดยถ้าให้ผมสรุปแบบรวมๆ เลยก็คือ 2700X และ 2600X นั้นเด่นในเรื่อง Price/Performance อย่างมาก ถึงประสิทธิภาพในการทดสอบโดยรวมจะไม่ได้เด่นจากคู่แข่งมากนักเมื่อเทียบแบบกันแบบตัวต่อตัว อย่างเช่นถ้าผมจับชนกันระกว่า i7-8700K 6C/12T กับ RYZEN 5 2600X ที่ทำงานด้วยแรม DDR4-3200CL14 ความเร็วเท่าๆ กันแบบแฟร์ๆ  แน่นอนว่าผลการทดสอบโดยรวมเจ้า 2600X อาจจะเป็นรองอยู่ทุกการทดสอบ แต่ก็ไม่ได้ห่างกันมาแบบน่าเกลียด ดังนั้นเมื่อจับเอาเรื่องราคามาเทียบกันแล้วกับ i7-8700K ที่ขายอยู่ประมาณ 12,200.- บาทในปัจจุบัน ซึ่งราคาปรับลงแล้ว และสำหรับเจ้า RYZEN 5 2600X นั้นจำหน่ายอยู่เพียง 8,000.- บาทเท่านั้น จึงทำให้มัน่าสนใจอย่างมากในเรื่อง ราคาต่อประสิทธิภาพที่ทำได้ สรุปแล้วคุ้มค่าต่อราคาจริงๆ ครับ !!!

     ส่วนเจ้า RYZEN 7 2700X 8C/16T นั้นตอนนี้เรายังไม่มีมวยมาเปรียบในตารางจากฝั่งตรงข้าม ณ เวลานี้ ดังนั้นเราจึงของเทียบกับรุ่นเดิมอย่าง RYZEN 7 1800X 8C/16T รุ่นเดิมไปก่อน ซึ่งผลการทดสอบโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหัวข้อ Rendering และ Encoding นั้น RYZEN 7 2700X นั้นโชว์ประสิทธิภาพที่ทำได้เหนือกว่าแบบชัดเจนในหลายๆ การทดสอบ เนื่องด้วยเจ้า 2700X นั้นผลิตด้วยกระบวนการ 12nm. เท่านั้น จึงทำให้ AMD ปรับจูนระบบ XFR2.0 ให้ CPU สามารถเร่งความเร็วด้วยการ Overclock ขึ้นไปได้ในระดับ 4.1-4.35Ghz ในบางช่วงขณะได้แบบไม่ยากเย็นเลยถ้าหากชุด Cooling เย็นพอ !!!  ส่วนเจ้า RYZEN 7 1800X นั้นจะเร่งความเร็วด้วย XFR1.0 ได้เพียง 4.0-4.15Ghz สูงสุดเท่านั้น

      และยังไม่หมดแค่ประสิทธิภาพ Benchmark เท่านั้น…  ในเกมทดสอบบางเกมเราจะเห็นได้ว่า RYZEN 7 2700X นั้นปั่นเฟรมเรทเฉลี่ยออกมาได้ดีกว่า RYZNE 7 1800X ได้ถึง 4-5fps. กันเลยทีเดียว จัดว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีเลยสำหรับเจ้า Pinnacle Ridge 12nm. ที่สามารถแช่ Turbo Core ได้ในระดับ 4.xx Ghz+++ ได้แบบนิ่มๆ…  ต่างกับ RYZEN 7 1800X ที่ทำการ Overclock ให้เกิน 4.0Ghz+ ในนิ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก  สรุปตรงนี้เลยว่า ถ้าใครอยากเล่น AMD RYZEN ความเร็วระดับ 4.0Ghz-4.2Ghz แบบง่ายๆ ต้องขยับขึ้นมาเล่น Pinnacle Ridge แล้วล่ะครับ ^^”

     สุดท้ายแล้วกับเรื่องอุณหภูมิการทำงานของตัว CPU Pinnacle Ridge 12nm. หากพิจารณาจากรุ่นเล็กอย่าง RYZEN 5 2600X 6C/12T นั้นอุณหภูมิในการทำงานจะไม่ได้สูงอะไรมาก อยู่ในช่วง 30-66c องศาเซลเซียสเท่านั้นจากการทดสอบของเรา และสำหรับ RYZEN 7 2700X 8C/16T นั้นจะอยู่ที่ระดับ 28-85c องศาเซลเซียสในการทดสอบ ซึ่งจัดว่าค่อนข้างร้านอยู่นะ เพราะเราทดสอบด้วยชุดคำสั่ง AVX จึงจะร้อนกว่าการ Full Load แบบปกติทั่วไปครับ  ดังนั้นถ้าหากเราคุมอุณหภูมิของ CPU ได้ดี ระบบ XFR2.0 ก็จะยิ่งช่วยเร่งความเร็วของ CPU ให้ได้สูงที่สุดเท่าที่ระบบจะทำได้ครับ หรือใครจะคิดทดลอง Overclock เองก็พอเป็นไปได้ครับ สำหรับความเร็วของ RYZEN 7 2700X ที่สามารถ Overclock ให้นิ่งๆ ได้ในระดับ 4.2Ghz-4.3Ghz แบบไม่ยากเย็น ซึ่งรีวิวเมนบอร์ดฉบับก่อนๆ ทำให้ดูแล้วว่าสามารถ Overclock ได้เกิน 4.0Ghz+++ ได้ง่ายจริงๆ สำหรับเจ้า Pinnacle Ridge 12nm.    อย่างไรแล้วก็ต้องขอฝาก CPU ทั้ง 2 รุ่นคือ AMD RYZEN 7 2700X 8C/16T และ AMD RYZEN 5 2600X 6C/12T ไว้พิจารณาความคุ้มค่าต่อประสิทธิภาพกันด้วย สวัสดีครับ ^^”

 

Special Thanks

AMD THAILAND