รีวิวแรมตัวแรง T-FORCE DELTA RGB DDR5-6000CL40 32GB Kit OC 6600+

 

     สวัสดีครับ วันนี้พบกันต่อกับแรม DDR5 จากค่าย TeamGroup ในรุ่น T-FORCE DELTA RGB DDR5-6000 CL40-40-40-80 1.35V แบบ Dual Channel Kit แถวละ 16GBx2 ชุดละ 32GB รองรับ Intel XMP 3.0 (One-Click Overclocking) ส่วนทางด้านความเร็วของแรม Series นี้มีให้เลือกซื้อทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ DDR5-6000 (ตัวเริ่มต้น) ไปจนถึงความเร็ว DDR5-6200 และ DDR5-6400 โดยทั้งหมดจะมีแค่ขนาดความจุ 32GB (2x16GB) จำหน่ายก่อนในช่วงแรกครับ ด้านการออกแบบนั้นหน้าตาของ Heatspreader ระบายความร้อนของตัวแรมรุ่นนี้ก็จะยังคงคล้ายกับรุ่น DELTA RGB ในรุ่น DDR4 โดยรูปทรงคล้ายกับปีกนก ด้านบนมีไฟ RGB สามารถสั่ง Sync แสงสีต่างๆ เข้ากับเมนบอร์ดชั้นนำที่รองรับได้แก่ ASRock Polychrome Sync, ASUS AURA Sync, BIOSTAR RGB Sync, GIGABYTE RGB Fusion2.0 และ  MSI Mystic Light Sync

 

Features
  • RGB Colors & 120° Ultra-Wide Lighting
  • Supports Intel XMP3.0 for One-Click Overclocking
  • Power Management ICs (PMICs) Equipped for Stable, Efficient Power Usage
  • Strengthened PMIC Cooling Design
  • On-die ECC for Stable System
  • High-Quality ICs Selected for Stability & Reliability
  • Equipped with Smart RGB IC Controller that Supports Various Lighting Effect Software

 

Tech Spec.

      รายละเอียดทางด้านเทคนิคนั้นสำหรับตัวขายจริง! รุ่น DDR5-6000 จะเป็น CL38-38-38-78 ใช้ไฟเลี้ยงต่ำเพียง 1.25V อ้างอิงจาก Spec ที่เขาใส่ไว้นะครับ  ส่วนตัวที่เราได้มารีวิวนี้เป็นตัว Engineering Sample ตัวอย่างทดสอบที่มาพร้อมกับชุดเมนบอร์ด ROG MAXIMUS Z690 APEX จากทาง ASUS ดังนั้นรายละเอียดทางด้านเทคนิคอาจจะไม่ได้ตรงกับหน้าเว็บ โดยรุ่นที่เราได้มาลองคือจะเป็น Spec DDR5-6000 CL40-40-40-80 1.35V 32GB-Kit

มาดูหน้าตากล่องสินค้ากันเลยครับ ก็จะเป็นรุ่น T-FORCE DELTA RGB DDR5-6000 32GB (2x16GB) รองรับการปรับแต่งสีแสงแบบ RGB Color ผ่านทาง Software ของเมนบอร์ดที่รองรับได้ทันที  สำหรับตัวสินค้ารุ่นนี้มี Heatspreader ออกมาจำหน่ายอยู่ 2 สี คือสีดำและสีขาว  แต่ในช่วงแรกน่าจะเป็นสีดำออกมาจำหน่ายก่อนครับ….

 

หน้าตาแรม DDR5 จากทาง T-FORCE รุ่น DELTA RGB ครับ โดยรุ่นนี้เป็น Heatspreader สีดำ

 

ด้านหลังระบุ Spec ไว้ว่าเป็นแรมรหัส “FF3D516G6000HC40ABK” ขนาดความจุแถวละ 16GB ชิดแรม DDR5 ความเร็ว 6000 (1Rank x8 เม็ด) ค่าหน่วงเวลาในการเข้าถึงข้อมูลหรือ CL อยู่ที่ 40-40-40-80 ใช้แรงดันไฟเลี้ยง 1.35V รองรับ Intel XMP3.0 โดยแรมคู่นี้เป็นแบบ Dual Channel Kit แถวละ 16GB จำนวน 2 แถว รวมเป็นคู่ละ 32GB นั่นเอง

 

     แรม DDR5 นั้นไม่สามารถใส่กับ Slot แรม DDR4 ได้แล้วนะครับ ดังนั้นผู้ที่จะซื้อแรม DDR5 ก็ต้องซื้อเมนบอร์ดและ CPU ใหม่ โดยตอนนี้ที่รองรับคือ Intel Gen12 และเมนบอร์ด Intel Z690 Chipset ส่วนจุดเด่นของ DDR5 ที่ได้รับการพัฒนามาจาก DDR4 นั้นก็คือ ความเร็วจะเพิ่มมากกว่าเท่าตัว และขนาดความจุต่อแถวก็จะมีมากขึ้น แถมยังใช้พลังงานที่ต่ำกว่า DDR4 อีกด้วย.. และทีเด็ดของแรม DDR5 ที่เราไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ในแรม 1 แถว/DIMM จะมีการแบ่งเป็น 2 Channel นั่นเท่ากับว่าแรม 1 แถวจะมี 2 Channel และเมื่อต่อแรม 2 แถวมันจะทำงานเป็น Quad-Channel นั่นเอง ดังนั้นถ้าให้เรียกแบบถูกต้องคือ 2 DIMM / Quad Channel / 128-bit และแน่นอนว่าการใส่ 4 แถว จะไม่ใช่ 8-Channel นะครับอย่าสับสน… เพราะโครงสร้างของ CPU Gen12 บน Socket LGA-1700 นั้นตัว CPU ยังทำงานแบบ Dual Channel เหมือนเดิมเพราะ IMC หรือ Intergrate Memory Controller ยังเป็น 2 Channel แต่เพียงแค่ระบบแรม DDR5 นั้นได้ออกแบบใหม่ ให้ทำงานได้แบบ 2 Channel ในแรมแถวเดียว แบ่งเป็นซีกซ้ายและขวา ข้างละ Channel (32bit + 32bit) และทำงานแยกกันอิสระอีกด้วยจึงทำให้ CPU สามาราถดึงข้อมูลจากแรมได้ไวขึ้นนั่นเอง เพราะ 1 แถวก็สามารถเรียกข้อมูลได้ถึง 2 Channel นั่นเอง

 

ก็ถือว่าน่าสนใจอยู่มิใช่น้อยสำหรับสถาปัตยกรรมใหม่ของ DDR5 ที่ได้รับการพัฒนามาจากฐานเดิมของ DDR4 โดย DDR5 นั้นโดดเด่นในเรื่องของความเร็ว/ความจุ/การใช้พลังต่ำลง

 

     และอีกหนึ่งสิ่งที่ DDR5 นั้นต่างออกไปจาก DDR4 แบบชัดเจนก็คือการย้ายภาคจ่ายไฟของแรมไปใช้บนตัว PCB เรียกว่าชุด Power Management IC (PMIC) ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่าการออกแบบเช่นนี้จะช่วยให้แรมจัดการพลังงานได้ดีขึ้น และให้ความเสถียรภาพต่อแรมที่มีความถี่ในการทำงานสูงๆ ได้ดีขึ้น และแน่นอนว่าเกรดของชิป PMIC เองก็ต้องรองรับแรมที่มีความเร็วสูงกว่ามาจราฐานของ JEDEC ที่ DDR5-4800/5200 โดยแรมรุ่น OC Module นั้นจะทำงานที่ความเร็วสูงตั้งแต่ DDR5-5600 หรือ DDR5-6000+ ขึ้นไป ดังนั้นชิป PMIC ก็ต้องรองรับการจ่ายไฟให้กับตัวแรมได้ด้วยนั่นเอง  ดังนั้นแรมบางรุ่นที่เป็นแรมบ้านๆ จะไม่สามารถ Overclock ได้ไกล เนื่องจากชิป PMIC นั้น Lock การจ่ายไฟเลี้ยงไว้แต่แรก จึงทำให้ไม่สามารถ Overclock ได้ไกลเกิน DDR5-5200-5600 ได้มากนัก หรือสุดอยู่แค่นี้นั่นเอง  ส่วนแรมรุ่น OC อย่างของ T-FORCE รุ่นนี้ก็จะรองรับการจ่ายไฟเลี้ยงแรมได้สูงขึ้นครับ โดยถ้าปรับเลือก High Voltage DRAM ใน BIOS ของเมนบอร์ดที่รองรับ เราจะสามารถเพิ่มไฟแรมได้มากถึง 2.0V+ กันเลยทีเดียว ดังนั้นนัก Overclock จะชื่นชอบสิ่งนี้อย่างแน่นอน….   ส่วนความคืบหน้าของการออกแบบ BIOS ล่าสุดนั้นทาง ASUS ก็เพิ่มเจาะการทำงานของชิป PMIC บางรุ่นที่ Lock ไม่ให้ปรับไฟเลี้ยงแรมได้บ้างแล้วนะครับ โดยแรมบ้านบางรุ่น น่าจะปรับไฟแรมเพิ่มได้แล้วนั่นเอง…. (อยู่ที่คนเขียน BIOS ของเมนบอร์ด)

 

ส่วนแรมรุ่นนี้ทาง TeamGroup ได้เลือกใช้ชิปจากค่าย Hynix DDR5 รหัส M-Die และน่าจะมีแค่รหัสเดียวในช่วงแรกนี้… โดยขนาดความจุของแรมแต่ละเม็ดนั้นอยู่ที่เม็ดละ 2GB รวมกัน 8 เม็ดก็เท่ากับว่าแรมหนึ่งแถวมีขนาดความจุแถวละ 16GB นั่นเอง

 

System Pic & Setup

ภาพบรรยากาศในการทดสอบครั้งนี้ครับ  ทดสอบในห้องแอร์ 25-26c ตลอดการทดสอบ

Hardware Spec.

CPU
 Intel Core i9-12900K 8+8C/24T SP82
CPU Cooler
 TT ToughLiquid Ultra 360
Motherboard  ROG MAXIMUS Z690 APEX (BIOS 0806 beta)
Memory
 T-FORCE DELTA RGB DDR5-6400CL40 2x16GB 32GB-Kit 1.35V
VGA  PNY XLR8 Geforce RTX 3080 Ti
Hard Drive  T-FORCE Z44L M.2 NVMe PCIe3.0 x4 SSD 1TB
PSU  TT ToughPower PF1 ARGB 1050Watt
Base Test
 “DEFAULT”
OS  Windows 11 Pro 64 bit [Last Update]

OC Guide Video @Clock’EM UP Channel

 

     รายละเอียดในการทดสอบครั้งนี้ เราจะต่อใช้งานร่วมกับ CPU Intel Core i9-12900K (SP82) เมนบอร์ด ROG MAXIMUS Z690 APEX ซึ่งเป็นเมนบอร์ดที่รองรับการ Overclock แรมความเร็วสูงเกิน DDR5-6000+ ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาออกแบบบอร์ดให้มีช่องเสียบแรมเพียง 2 Slot เท่านั้น เพื่อช่วยให้การ Overclock ได้ดีขึ้นนั่นเอง ดังนั้นใครอยากจะ Overclock แรมให้ได้ความเร็วสูงๆ เกินความเร็วจากโรงงานที่ DDR5-6000 XMP แล้วล่ะก็… เมนบอร์ดนั้นเป็นตัวเลือกที่สำคัญอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกันนะครับ ควรจะเลือกเมนบอร์ดที่เอื้อต่อการ Overclock แรม DDR5 ด้วนนั่นเอง

     เอาล่ะครับสำหรับผลการทดสอบ Overclock ของเราในครั้งนี้ สามารถปรับแต่งเพิ่มความเร็วขึ้นไปถึงระดับ DDR5-6600 CL30-38-38-28 2T พร้อมกับการปรับแต่งชุด Sub-Timing ชั้นลึกให้แน่นๆ ด้วยการใช้ไฟเลี้ยงประมาณ 1.54V สำหรับ Config นี้ครับ ก็จัดว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับกับความแรงระดับ DDR5-6600 CL30 ที่สามารถ Burn-In Ram ผ่านได้แบบไม่ยากเย็นนัก โดยแนะนำว่าการ Overclock แบบนี้ต้องมีรพัดลม 1 ตัวสำหรับเป่าแรมด้วยนะครับ มิฉะนั้นแรมจะร้อนและ Error เวลา Burn-In นานๆ

 

MemtestPro 7.0 @1100% : Run time 7 Hr. 49min.

     กว่าจะมาถึงจุดนี้ผมก็จูนแรมและเผาแรมอยู่4-5 วันเลยนะครับ ช่วงแรกก็มีติด Error ขึ้นสีแดงบ้าง โดยผมเริ่มเผาแรมตั้งแต่ความเร็ว DDR5-6400 CL32-38-38-56 ด้วยไฟเลี้ยงแถวๆ 1.48-1.50V ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นมาที่ความเร็ว DDR5-6600 CL30-38-38-28 2T ด้วยไฟเลี้ยง 1.54V คือจุดนี้แรมนิ่งสุด ลดก็ไม่ได้ ขึ้น error ทันที มากกว่านี้ก็เหมือนจะร้อนไปครับ  และสุดท้ายผมก็มานั่งไล่ปรับแต่งชุด Sub-Timing ทั้งหมดให้แน่นที่สุดเท่าที่ระบบจะยังสามารถ Burn-In ได้แบบไม่ Error หรือพูดง่ายๆ คือ กด CL แน่นแล้วต้องสามารถใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่บูทติดขึ้นมาแล้วเอามาขิง…   สรุปแล้วคือ เผาแรมได้ 1100% ด้วยเวลา 7 ชั่วโมงกว่าๆ ผ่านได้แบบน่าเหลือเชื่อ… ตอนแรกผมแค่ขอให้มันเกิน 1 ชั่วโมง + แบบ Error ก็พอใจแล้ว เพราะ CL มันตึงมาก แต่ปล่อยไปยาวๆ ก็รันได้ ถึง 7 ชั่วโมง+ กันเเลย…

 

TestMem5 : Extreme1 @anta777 15 Test 3 Loop

TestMem5 ตัวโหดก็ผ่านได้สบาย เช่นกัน ใช้เวลารวม 3 Loop ที่ 1 ชั่วโมง 34 นาทีเศษ กับแรมขนาด 32GB นะครับ นี่ถือว่าไวมากๆ อาจจะเพราะการทำงานแบบ Quad Channel 2DIMM นั่นเอง มีการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก ได้ไวกว่า DDR4 เกือบเท่าตัวเลยนะครับ  เพราะปกติ DDR4 ขนาด 32GB ต้องมีการทดสอบครบ 3 Loop อย่างน้อยๆ ต้องมี 2-3 ชั่วโมงเลยนะครับ

 

Ramtest : 3500%

และต่อด้วย Ramtest อีก 1 ชั่วโมง ด้วยระยะเวลาการทดสอบกว่า 3500% ผ่านได้แบบสบายๆ

 

AIDA64 Cache & Memory Benchnark

ค่า Memory Bandwidht ของ Read/Write/Copy นั้นขึ้นไปแตะถึงระดับ 106.72/101.02/101.23GB/s กันเลยทีเดียว…. และค่า Latency นั้นอยู่ที่ 49.6ns ซึ่งถือว่ากดลงมาได้ต่ำมากแล้วสำหรับ DDR5  เพราะถ้สเราปล่อยใช้งานแค่ XMP DDR5-6000 ค่า Latency น่าจะอยู่ที่ 65ns โดยประมาณครับ

 

Super Pi

และสุดท้ายกับการทดสอบ Super Pi32MB ทั้งแบบ Single Thread และ Multi-Threads สามารถทดสอบผ่านได้แบบนิ่มๆ อีกด้วยครับ จัดว่าไม่ธรรมดาทั้งบอร์ดและแรม…

 

Max Overclocking On-Air

อัดกันแบบสุดๆ บนแรมคู่นี้ร่วมกับ ROG MAXIMUS Z690 APEX (BIOS 0806) บอกเลยว่า DDR5-6800 นั้นบูทติดนิ่มๆ เลยครับ เพียงแค่จะทดสอบให้นิ่งนั้น แรมอาจจะคัดเกรดที่สูงกว่านี้  แต่เราก็เอาผลการทดสอบที่ DDR5-6800CL28-38-38-28 2T มาให้ชมความแรงกันด้วย ไปชมกันเลยครับ…

 

AIDA64 @ DDR5-6800 CL28-38-38-28 2T + Tight-Sub Timing 1.65V

อัดกันแบบสุดๆ ก็ได้ค่า Latency 47.7ns จัดว่าแรงจัดในย่าน DDR5 แล้วก็ว่าได้ กับความเร็วแรม DDR5-6800 CL28-38-38-28 2T + Tight Sub-Timing ด้วยไฟเลี้ยงประมาณ 1.65V ครับ

 

Geekbench 3 : Memory Score 13772

@DDR5-6666 CL28-38-38-28 2T + Tight Sub 1.60V

คะแนนของ Memory Score ของ Geekbench 3 นั้นทำได้ที่ 13772 สูงสุดครับ โดย Scale ที่เขาทดสอบกันบนลมนั้น (On-Air Cooling) ควรจะอยู่แถวๆ 14000 คะแนนสำหรับ Memory Score ครับ ส่วนผมมาได้แค่นี้ล่ะ ฮ่าๆ… กับความเร็วแรม DDR5-6666 CL28-38-38-28 2T + Tight Sub ไฟเลี้ยง 1.60V

 

Geekbench 3 : Memory Score 13705

@DDR5-6800 CL30-38-38-28 2T + Tight Sub 1.60V

และปิดท้ายด้วย DDR5-6800 CL30-38-38-28 2T + Tight Sub-Timing ไฟเลี้ยง 1.65V ก็สามารถปั่นคะแนน Geekbench 3 Memory Score ได้ที่  13705 แต้มครับ  จริงๆ แล้วถ้ากด CL28 ผ่านได้น่าจะแตะ 14K ได้เลยนะ แต่แรมคู่นี้ไปไม่ไหวแล้วครับ ไว้โอกาสหน้าจะลองจูนดูใหม่ครับ ^^”

 

Conclusion.

     เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับแรม DDR5 จากค่าย TeamGroup ในรุ่น DELTA RGB DDR5-6000 CL40-40-40-85 1.35V 32GB (2x16GB) คู่นี้…. จุดเด่นเล่นก็เรื่องของการเลือกใช้ชิปจากค่าย Hynix ที่มีความสามารถในการ Overclock เกินความเร็ว DDR5-6000+ ได้ดีกว่าชิปอื่นๆ ในท้องตลาด ณ เวลานี้ จึงทำให้นัก Overclocker นั้นมองหาแต่แรมชิป Hynix กันทั้งนั้น… เพราะมันสามารถ Overclock ได้มากถึงระดับ DDR5-6600+ ได้ง่ายจริงๆ ครับ และตถ้าคัดดีๆ หรือมีการเปลี่ยน Cooling ให้กับแรม สามารถ OC ได้ถึงระดับ DDR5-6800-7000 แบบสามารถทดสอบ Memtest ผ่านได้เลยนะครับ  แต่แรมเกรดแบบนั้นก็ไม่ได้หากันง่ายๆ เล่นกัน แต่ทางเลือกที่ดีที่สุด ลองเปลี่ยนชนิด Cooling ของแรมก่อน ผมว่าน่าจะไปต่อได้อีกไกลครับ  ปล. ผมแนะนำให้ผู้ใช้เมนบอร์ด ROG MAXIMUS Z690 APEX ทำการ Update BIOS เป็นรุ่น 0806beta ขึ้นไปนะครับถึงจะเล่นกับแรมความเร็ว DDR5-6400+ ได้ง่ายขึ้น…

     ความสามารถในการ Overclock ในครั้งนี้ที่ DDR5-6600 CL30-38-38-28 2T + Tight Sub-Timing ในครั้งนี้ผมก็มองว่าแรงใช้ดีระดับหนึ่งเลยนะครับ โดยสามารถทดสอบ Burn-In แรมผ่านได้ และประสิทธิภาพก็ออกมาดูค่อนข้างดีเลยทีเดียว หากใครสามารถแรมชิป Hynix เกรดดีๆ แบบนี้ก็ลองพิจารณาค่าย TeanGroup ดูกันครับ ลองเอาติดไว้คู่กับเมนบอร์ดตัวแรงของท่าน รับรองได้ว่า OC มันแน่นอน…. (แต่เรื่องที่ยากกว่าเลยก็คือ หาแรม DDR5 ชิป Hynix ให้ได้กันก่อนครับตอนนี้…. หายากยิ่งกว่าทองอีกก็ว่าได้) พบกันใหม่รีวิวฉบับหน้า สวัสดีครับ

 

Special Thank

  • ASUS THAILAND